'สุพัฒนพงษ์' ชู 'โมเดล 4D' ความหวังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มมองหาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆในการขับเคลื่อเศรษฐกิจ นอกจากมุ่งในเรื่องการเติบโตยังต้องมองไปถึงการลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสเติบโตในอนาคต
เมื่อเร็วๆนี้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจได้กล่าวถึงโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด-19 ในชื่อว่า "โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D” โดยเป็นส่วนผสมกันระหว่างบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปกับโอกาสของประเทศไทยที่มีฐานและศักยภาพทางเศรษฐกิจในเรื่องนั้นๆเป็นทุนเดิมและต่อยอดให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจประกอบไปด้วย
1.Digitalization คือการส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
2.Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ เช่น การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศแผนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ 100 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2035 หรือปี 2578 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของรัฐบาลที่จะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
3.Decentralization คือโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของการย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจะมีการชักชวนให้บริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นใน 5 อุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตและมีความเชี่ยวชาญได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และดิจิทัล โดยในระยะเร่งด่วนตั้งเป้าหมายดึงกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพเข้ามาก่อน เพราะสามารถทำได้เร็ว
และ 4.D-risk คือใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ โดยต้องทำอย่างไรให้จุดแข็งของไทยในเรื่องการควบคุมโควิด-19 ได้ดี ระบบสาธารณสุขที่ดีมีอาหารที่ดีราคาไม่แพงเป็นจุดแข็งที่จะดึงดูให้ผู้มีรายได้สูงมาอยู่ในไทยในระยะยาวและมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2
ซึ่งโมเดลนี้คาดหวังกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจะใช้จ่ายเงินได้มากให้เข้ามาใช้จ่ายในไทยมากขึ้นซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมายได้โดยอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดเข้ามาคือกลุ่มของนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อ และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากกลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการรองรับซึ่งต้องการให้มีการใช้จ่ายในประเทศไทยในระดับ 1 แสนบาทต่อการเดินทาง 1 ทริปหรือมีระดับการใช้จ่ายที่สูงมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปซึ่งจะเหมาะสมกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแบบเดิมที่ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามายังในประเทศไทยเพื่อให้ได้เท่ากับ 2 ล้านล้านบาทเหมือนกับในอดีต
...ถือว่าเป็นอีกโมเดลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและหากสามารถนำโมเดลทางเศรษฐกิจนี้ไปใช้ได้ในทางปฏิบัติได้จะไม่ใช่เพียงแต่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ยังเป็นการตั้งความหวังถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต