ผ่ายุทธศาสตร์'ซีอาร์จี’เร่งทรานส์ฟอร์ม!

ผ่ายุทธศาสตร์'ซีอาร์จี’เร่งทรานส์ฟอร์ม!

"ซีอาร์จี" หรือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ประกาศยุทธศาสตร์ "TRANSFORM FOR THE FUTURE” สู่เป้าหมายการเป็นเครือข่ายร้านอาหารที่ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด เพื่อรับมือคลื่นดิสรัปที่ไม่เพียงคลื่นดิจิทัล หากแต่ "วิกฤติโควิด" รอบนี้สร้างบทเรียนครั้งใหญ่!

แลนด์สเคป "ธุรกิจอาหาร" มูลค่ากว่า 3.7 แสนล้านบาทกำลังถูกจับตาถึงการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ นอกจากพิษโควิดกระทบตรงต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยทางด้าน สุขอนามัย” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด โดยเฉพาะช่วงระบาดหนัก กิจการร้านอาหาร ลูกค้าไม่สามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ หรือนั่งได้แต่ต้องเว้นระยะห่าง แน่นอนว่าปี 2563 ฉุดธุรกิจหดตัวถึง 10%  มูลค่าวูบหายไปกว่า 30,000 ล้านบาท หากไม่มีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามากระทบ คาดว่าธุรกิจอาหารปีนี้น่าจะดีดตัวกลับมาอยู่ที่ 4 แสนล้านเทียบเท่าปี 2562

ขณะเดียวกัน กิจการร้านอาหารยังถูก ดิสรัป” ต่อเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบบริการ “ดีลิเวอรี” ซึ่งได้รับความนิยม นับวันยิ่งมีบทบาทมากขึ้น อยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งอาหารมารับประทานได้ เร่งให้ธุรกิจต้องปรับตัวอีกระลอก เป็นภารกิจและความท้าทายของยักษ์ใหญ่ "ซีอาร์จี"  ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) ในการรับมือต่อแรงกระเพื่อมต่างๆ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี  กล่าวว่า ภายใต้ภาวะดิสรัปธุรกิจอาหาร และกิจการร้านอาหาร ยังมีโอกาสทางการตลาดไม่น้อย  โดย ซีอาร์จี พร้อมรุกขยายธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นการเติบโตสอดรับสัญญาณบวกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กำลังถูกกระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้น ผ่านยุทธศาสตร์ "TRANSFORM FOR THE FUTURE” สู่เป้าหมายการเป็นเครือข่ายร้านอาหารที่ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนับจากนี้

ไทยมีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น ทั้งแง่กำลังซื้อ ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้คน เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรุกไปหาดีมานด์”

161706913889

ยุทธศาสตร์ร้านอาหาร “ซีอาร์จี”  วาง 5 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย กลยุทธ์การขยายช่องทางตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายและครบถ้วนใน 1 มื้อ โดยอาศัยจุดแข็งด้านเครือข่ายร้านอาหารทั้ง 16 แบรนด์ มากกว่า 1,100 สาขา กว่า 800 เมนู มีพนักงานกว่า 10,000 คน รองรับความต้องการลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะรูปแบบร้านแนวใหม่ Shop in Shop  นำร่องเปิดเคาน์เตอร์อาริกาโตะร่วมกับร้านมิสเตอร์ โดนัท และ กลยุทธ์ “Cross Sale” ทุกแบรนด์ในเครือ เช่น นำเมนูจาก บราวน์ คาเฟ่ ขายในร้านคัตสึยะ เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ คาดว่าจะขยายสาขาที่มีบริการ Cross Sale ได้มากกว่า 400 สาขาทีเดียว สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

นอกจากนี้ มีการผนึกกำลังกันของแบรนด์ในเครือเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ล่าสุดแบรนด์ไทยเทอเรส และ อร่อยดี ขานรับนโยบายปลดล็อก “กัญชา” พัฒนาูอาหารมากกว่า 10 เมนู ที่ปรุงจากใบกัญชาออร์แกนิกที่สั่งซื้อจากวิสาหกิจชุมชนผัก พืชสมุนไพร และพืชพลังงาน ตำบลพนมรอก จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีแผนขยายไปยังแบรนด์อื่นในเครือต่อไป

ในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เมนูกัญชากัญชงจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งซีอาร์จีมีแบรนด์อาหาร เราก็มองถึงการต่อยอดต่างๆ รวมถึง สแน็ค

อย่างไรก็ดี ในเรื่องกัญชาต้องมีการควบคุมที่ดี ประโยชน์มีมาก แต่ก็มีทั้งบวกและลบ เรายังขายสินค้ากับเยาวชนต้องระวังพอควร

กลยุทธ์การขยายสาขาโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า  มองหาพื้นที่ใหม่ๆ เช่น Mobile Box Model ในสถานีบริการน้ำมันและมินิคีออส ต่อจากโมเดลร้านเดลโก้ (Delco) สามารถขยายสาขาได้คล่องตัว กลยุทธ์เดินหน้า ดีลิเวอรี่” และ คลาวด์คิทเช่น” (Delivery & Cloud Kitchen) โดยคลาวด์คิทเช่นจะขยายครบ 15 แห่งภายในปีนี้ ครบ 50 แห่ง ภายในปี 2566 มีการจับมือกับพาร์ตเนอร์รายใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในทุกด้าน

กลยุทธ์การรุกช่องทางออนไลน์และเจาะกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น (Go Digital & Omnichannel) มุ่งโฟกัส O2O (Online to Offline) เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่าน อีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ ทั้งเจดีเซ็นทรัล ช้อปปี้ ลาซาด้า

กลยุทธ์สุดท้าย รุกขยายแบรนด์ใหม่ ร้านอาหารแนวใหม่ และธุรกิจใหม่ โดยเปิดกว้างพันธมิตรทุกรูปแบบ การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจะทำให้เดินแผนเชิงรุกได้อย่างรวดเร็วเทียบการสร้างแบรนด์ด้วยตัวเอง เบื้องต้น ปีนี้ ซีอาร์จี จะมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 แบรนด์ และอยู่ระหว่างพูดคุยสตรีทฟู้ดกว่า 10 ราย 

ปีที่ผ่านมา ซีอาร์จี มีพาร์ทเนอร์ อย่าง สลัดแฟคทอรี่”  สามารถผลักดันยอดขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่เติบโตสูงถึง 400% ปีนี้ตั้งเป้าผลักดันยอดขายรวมเติบโต 2 เท่า รวมทั้งจับมือกับ โออาร์ (OR) ขยายเครือข่ายร้านกาแฟ  คาเฟ่อเมซอน” ในประเทศเวียดนาม ล่าสุดเปิดสาขาแล้ว 5 แห่ง

จะเห็นว่า การปรับตัวของซีอาร์จีเท่าทันทุกสถานการณ์เป็นปราการความแข็งแกร่งต่อสู้ปัจจัยลบต่างๆ แม้ภาพรวมรายได้ปีที่ผ่านมาไม่เติบโต แต่สามารถ “ดับเบิลเซล” ผ่านช่องทางใหม่และธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะ “ดีลิเวอรี่” และ “ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง” ในอัตราเติบโตสูงมาก 150% จากยอดขายดีลิเวอรี่ 800 ล้านบาทในปีก่อนหน้าสู่ 2,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2563 

โดยปี 2562 ช่องทางออฟไลน์ครองสัดส่วนกว่า 90% ดีลิเวอรีมีเพียง 7% ขยับเป็น 22% ในปีที่ผ่านมา และจะเป็น 30% ในสิ้นปีนี้ คิดเป็นมูลค่ายอดขาย 3,000 ล้านบาท

161706927397

มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยที่เริ่มพลิกฟื้น และการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาในปลายปี จะผลักดันรายได้ปีนี้เติบโต 18-20% ปิดยอดขายมากกว่า 12,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 11,000 ล้านบาท  ต่ำกว่าเป้าหมาย 17% แต่ถือว่าประคองตัวมาได้พอสมควร 

ปีก่อน ซีอาร์จี เปิดสาขาใหม่รวม 30 แห่ง  ใช้งบไปเพียง 470 ล้านบาทจากที่ตั้งไว้ 1,300 ล้านบาท 

ณัฐ ย้ำกว่า ทั้ง นิวนอร์มอล และนาวนอร์มอล ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาร และหลายกลุ่มธุรกิจไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดจะค่อยๆ ฟื้นกลับมา แต่ความสำเร็จในอดีตก็ไม่สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจที่พลิกโฉมหน้าไปจากเดิมได้อย่างทรงประสิทธิภาพอีกต่อไป ซีอาร์จี มุ่งเข้าไปใน “นิว อีโคโนมี”  ทั้งออนไลน์ และออมนิชาแนล  

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในปี 2564 นี้ ซีอาร์จี เปิดเกมรุกหนัก! เตรียมงบกว่า 1,000 ล้านบาทขยายการลงทุน เปิดสาขาใหม่ 600-700 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 200 สาขา มีเรือธงทั้ง เคเอฟซี แบรนด์ญี่ปุ่น คลาวด์คิทเช่น อาริกาโตะ และอร่อยดี ผลักดันสาขารวมแตะ 1,300 สาขา   

ปัจจุบัน ซีอาร์จี มี 16 แบรนด์ร้านอาหารในพอร์ตรวม 1,175 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, อาหารจีนเกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ คาเฟ่ และ อาริกาโตะ พร้อมบริการดีลิเวอรี่ อร่อยได้ทุกร้านผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น “FOODHUNT” และโทร 1312