ธุรกิจเครื่องจักรกลหนักฟื้น ‘อิตัลไทย’ดันรายได้ปีนี้โต30%

ธุรกิจเครื่องจักรกลหนักฟื้น ‘อิตัลไทย’ดันรายได้ปีนี้โต30%

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ ในขณะที่ปี 2564 หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัวเมื่อมีการฉีดวัคซีน รวมถึงธุรกิจเครื่องจักรกลหนักที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนภาครัฐ เพื่อให้งบลงทุนรัฐฟื้นเศรษฐกิจ

ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เปิดเผยว่า ปี 2563 และปี 2564 ธุรกิจของอิตัลไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและไลฟ์สไตล์ แต่ในกลุ่มเครื่องจักรหนัก รับเหมางานวิศวกรรมก่อสร้าง และการก่อสร้างครบวงจร ยังเติบโตได้ดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 รายได้รวมของอิตัลไทยจะอยู่ที่ 13,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% เป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจเครื่องจักรหนักและงานวิศวกรรมสัดส่วน 65% และกลุ่มธุรกิจโรงแรมและไลฟ์สไตล์ 35%

สำหรับแนวโน้มตลาดธุรกิจของกลุ่มวิศวกรรมและธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2564 จะขยายตัว 4.5-5.0% และปี 2565-2566 ขยายตัว 5.0-5.5% ซึ่งมีทิศทางเติบโตขึ้นเพราะมีปัจจัยด้านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่หนุนงานก่อสร้างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มสร้างปี 2564 เป็นต้นไป เช่น โครงการด้านการคมนาคม โครงการระบบสาธาณูปโภค โครงการนิคมอุสาหกรรม หรืออาคารเพื่อการพาณิชย์

161741732377

ส่วนธุรกิจวิศวกรรมในปี 2564 จะหาโอกาสจากโครงการลงทุนใหม่มากขึ้น ทั้งรูปแบบเข้าดำเนินการเองและร่วมกับพันธมิตร ซึ่งช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา อิตัลไทยวิศวกรรม เน้นตลาด Mixed–use มากขึ้น เช่น One Bangkok และ The Forestias รวมทั้งมีความสามารถในการดำเนินงานก่อสร้างในอาคารสูงที่เป็นระบบมาตรฐานอาคารใหม่ LEED หรือ WELL

ส่วนกลุ่มตลาดอื่น เช่น งานระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ,คลังสินค้าอัตโนมัติ ,สถานีไฟฟ้าย่อยแบบอัตโนมัติ รวมทั้งพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ทั้ง Solar Floating , Solar Carpark และ Solar Rooftop บนโรงงานขนาดใหญ่ ยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (IOC) ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง , โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา , โรงงาน Lenzing T3 โรงงานผลิตเส้นใยผ้าที่ใหญ่สุดในโลกจากออสเตรีย , Solar Carpark ตลาดสามย่าน และ Solar Floating เครือสหพัฒน์

ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนักปี 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ด้วยงบจากภาครัฐในส่วนของโครงการเมกะโปรเจคที่เริ่มหลายโครงการ โดยส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากสินค้าจีนเข้ามาทำการตลาดทำให้กระตุ้นตลาดเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จีนมาบุกตลาดเครื่องจักรกลหนักในไทยได้กระตุ้นให้แข่งขันสูงขึ้น กดราคาถูกกว่า 30-40% จึงวางกลยุทธ์รับมือ 3 แนวทาง ได้แก่ 

1.กำหนดกลุ่มเป้าหมายการทำตลาดเครื่องจักรกลหนักให้ชัดเจน และเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงการจัดโซลูชันตอบโจทย์ลูกค้าให้มากกว่าราคาสินค้า โดยเฉพาะบริการหลังการขาย 

2.วางแผนการบริหารต้นทุนร่วมกับพันธมิตรแต่ละแบรนด์ที่อิตัลไทยเป็นตัวแทนจำหน่าย เช่น Volvo , CE , Yutong , Tadano เพื่อให้แข่งขันได้ดีขึ้น 

3.ปรับกลยุทธ์การบริการหลังการขายและการบริหารอะไหล่คงคลังให้บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ได้นำระบบฐานข้อมูล CRM และ Telematics มาวางแผนกลยุทธ์การขายและการบริการหลังการขาย รวมถึงสร้างทีมขายและทีมบริการหลังการขายที่มีคุณภาพเพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้า พร้อมกันนี้ทำการยกระดับ ศูนย์อิตัลไทย เซ็นเตอร์ โดยขยายไปที่พระนครศรีอยุธยาและนครราชสีมา เพื่อดูแลลูกค้าได้ครบวงจรและครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับโครงการก่อสร้างในอีอีซีในส่วนงานวิศวกรรม จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเริ่มก่อสร้างปี 2564 เป็นต้นไป เช่น โครงการด้านการคมนาคม โครงการระบบสาธาณูปโภค โครงการนิคมอุสาหกรรม หรืออาคารเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงโครงการเมกะโปรเจค เช่น ไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการจริงจัง และหากเริ่มก่อสร้างจะกระตุ้นความต้องการเครื่องจักรกลได้ ซึ่งมีผลถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กลุ่มโรงโม่ ซึ่งมีความต้องการหินก่อสร้างจำนวนมาก