PSTC โฉมใหม่ รับ 'ทุนใหญ่' พลิกธุรกิจโต !
'เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี' ลั่นปีนี้เห็นโฉมใหม่ หลัง 'กลุ่มทุนใหญ่' นั่งแท่นคุมบังเหียน หวังพลิกฟื้นธุรกิจกลันมา 'เทิร์นอะราวด์' ! 'กัมพล ตติยกวี' ซีอีโอป้ายแดง แย้มพันธมิตรชั้นดีจ่อร่วมทุนอีกเพียบ
แม้ชื่อของ 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' อภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของไทย เจ้าของอาณาจักรผู้มั่งคงและมั่งคั่งจากธุรกิจสุราและเบียร์ช้าง ไม่ได้เข้ามาถือหุ้น บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC แต่รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของ PSTC พบชื่อลูกสาว-ลูกเขย คือ 'โสมพัฒน์-วัลลภา ไตรโสรัส' ถือหุ้นในสัดส่วน 4.95% และ 4.80% (ณ22 มี.ค.2564) !
'กัมพล ตติยกวี' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC นั่งตำแหน่งซีอีโอมาราว 4 เดือน (ธ.ค.2563) เล่าให้ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ฟังว่า เท่าที่ทราบทั้ง 'โสมพัฒน์-วัลลภา' ถือหุ้น PSTC มานานแล้ว โดยเป็นการเข้ามาลงทุนในนามส่วนตัว ไม่ได้เข้ามาในนามของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ
แต่ในอนาคตก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสดังกล่าว แต่คงไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจาก ปัจจุบันผลประกอบการของ PSTC ยังไม่สดใส หากย้อนดูผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2561-2563) มีกำไรสุทธิที่84.64 ล้านบาท 3,128.78 ล้านบาท และพลิกมาขาดทุนในปี 2563 จำนวน1,005.36 ล้านบาท ตามลำดับ แต่คาดว่าในปี 2564 ผลประกอบการจะพลิกฟื้นกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' อีกครั้ง
สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย PSTC มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารระดับบนใหม่ทั้งหมดโดยมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ใหม่ยกชุด สะท้อนผ่านปัจจุบันโสมพัฒน์ ไตรโสรัสเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดเอง และเข้ามาดูภาพรวมของธุรกิจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ถือหุ้นอย่างเดียวแล้ว
โดยกลุ่มทุนใหญ่ (กลุ่มไตรโสรัส) เข้ามาถือหุ้นนั้นไม่ใช่ถือหุ้นอย่างเดียวแต่มาพร้อมกับ 'คอนเนคชั่น' โดยบริษัทจะแสวงหาโอกาส (Opportunity)จากเครือข่ายคอนเน็กชั่นของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ และมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ เชื่อว่าคอนเนคชั่นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ระดับนี้มีอยู่ทุกวงการ เพียงแต่โยนโจทย์ให้เท่านั้นว่าบริษัทต้องการขยายธุรกิจไปช่องทางไหน ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นคอนเนคชั่นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจนแล้ว ซึ่งก็ช่วยหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา
แต่โจทย์แรกที่ต้องรีบแก้ไขก่อนเพื่อให้ผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรสุทธิหลังจากปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุนจากการบันทึกด้อยค่าโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันกำลังกวาดเช็ดถูบ้านให้เกลี้ยงก่อน ด้วยการลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และรีวิวโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพราะเดิมธุรกิจของ PSTC เป็นพลังงานทดแทนล้วนๆ
แต่ในปี 2560 ได้ซื้อหุ้น บริษัท บิ๊กแก๊ส เทคโนโลยี จำกัด (BIGGAS) ทำธุรกิจน้ำมันและแก๊ส ซึ่งทำให้ปัจจุบันบริษัทไม่ใช่แค่บริษัททำธุรกิจพลังงานทดแทน และการได้มาซึ่งธุรกิจน้ำมันและแก๊ส ทำให้บริษัทได้ธุรกิจที่เปรียบเหมือนอัศวินม้าขาวคือ บริษัท ไทยไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งน้ำมันโดยระบบขนส่งทางท่อ ที่กำลังจะสร้างการเติบโตก้าวกระโดด สะท้อนผ่านการลงทุนโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมัน เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมูลค่าระดับ 'หมื่นล้าน'
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าในการก่อสร้างกว่า 70% โดยโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมัน นี้ครอบคลุมพื้นที่ใน 70 ตำบล 22 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น มีระยะทางรวม ประมาณ 342 กิโลเมตร
โดยคาดว่าสามารถเปิดดำเนินการโครงการดังกล่าวเดือนต.ค.นี้ และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป และตั้งแต่ปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้ปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท โดยจะมีกำไรขั้นต้นประมาณ 40% ซึ่งโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเป็นการลงทุนที่เป็นธุรกิจที่สร้าง 'รายได้ประจำ' หรือ Recurring Income ที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตมั่นคง
แต่อีกหนึ่งความสำคัญในอนาคตที่จะสร้างสตอรี่ใหม่ๆ คือ กรณี BIGGAS จำหน่ายหุ้น TNP สัดส่วน 43% ให้บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือEGCOมูลค่า 2,901.50 ล้านบาท โดยในเชิงกลยุทธ์การที่บริษัทมีความร่วมมือกับ EGCO ถือเป็นพันธมิตรในทางธุรกิจกันแล้ว และเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดในธุรกิจน้ำมันและแก๊ส โดยต้องยอมรับว่า EGCO เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในธุรกิจน้ำมันมานาน
'การเป็นพันธมิตรกับ EGCO ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการขยายเข้าไปในธุรกิจน้ำมันและแก๊ส รวมทั้งการขยายเข้าไปในตลาดใหม่ โดย EGCO ไปลงทุนที่ไหนเราก็จะติดสอยห้อยตามไปด้วยในฐานะพันธมิตรที่ดี'
เขา บอกต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 40% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,673.64 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจน้ำมันและแก๊สเป็นหลัก โดยการขยายตลาดทั้งในส่วนอัพสตรีมและดาวน์สตรีม ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ในธุรกิจดาวน์สตีม โดยเฉพาะตลาด LNG ปีนี้จะเป็น 'พระเอก' เพราะว่าตลาดเริ่มมีความต้องการ (ดีมานด์) LNG มากขึ้น โดยเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากราคา LNG ถูกกว่า LPG (กรณีไทยไม่สนับสนุน LPG) หากภาครัฐมีการลอยตัว LPG ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนธุรกิจที่จะทะลุทะลวงตลาด LNG โดยปีนี้มีเป้าหมายเติบโต 400-500% โดยมาจากตลาดอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยในปีนี้ LNG จะเป็นตัวสร้างรายได้หลักของบริษัท
ล่าสุด บอร์ดอนุมัติเข้าลงทุนใน บริษัท บีจีที โลจิสติกส์ จำกัด ธุรกิจให้บริการขนส่งเชื้อเพลิง LPG และ LNG เพื่อต่อยอดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจการจำหน่ายเชื้อเพลิง LPG และ LNG โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 97.80%
ขณะที่ 'ธุรกิจพลังงานทดแทน' ปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษา 'ควบรวมและซื้อกิจการ' (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีใบอนุญาตในมือ ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 2 บริษัท คือซึ่งมีกำลังผลิต 32 เมกะวัตต์ และ 45 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสามารถปิดดีลดังกล่าวได้จะทำให้ปีนี้บริษัทจะมีกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 85 เมกะวัตต์ โดยตั้งงบลงทุนประมาณ1,000 ล้านบาท
รวมถึงบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนพลังงานทดแทนในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม , อินโดนีเซีย เป็นต้น บริษัทก็ยังติดตามและหากมีโอกาสเข้ามาบริษัทก็พร้อมที่ไปลงทุน แต่ต้องศึกษาการลงทุนอย่างรอบครอบก่อน อย่าง เวียดนามปล่อยให้เอกชนลงทุน แต่ไม่มีการรับประกันการซื้อไฟฟ้า ดังนั้น ความเสี่ยงสูง เพราะว่าลงทุนไปแล้วยังไม่รู้ว่าจะขายไฟฟ้าที่ไหน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามและเมียนมาคล้ายๆ กัน
นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาการลงทุนใน 'ธุรกิจใหม่' (New Business) สะท้อนผ่านปัจจุบันที่กำลังเจรจากับผู้ประกอบการโรงงานผลิตถุงมือยาง 1 รายซึ่งบริษัทจะใส่เงินลงทุนผ่านการถือหุ้น ตั้งเป้าถือหุ้น 40% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการคุยในเรื่องราคาซื้อหุ้น หลังเจ้าของโรงงานผลิตถุงมือยางต้องการเงินทุนไปขยายกำลังการผลิต โดยตั้งงบลงทุนไว้ 500 ล้านบาท คาดว่าน่าจะปิดดีลได้ในปีนี้
และกำลังศึกษาดูธุรกิจประกอบแผงโซลาร์ (Solar Panel) ซึ่งปัจจุบันมีพาร์เนอร์มาชวนให้ร่วมลงทุน และปัจจุบันขั้นศึกษารูปแบบลงทุน ร่วมทั้งสนใจลงทุนในธุรกิจกัญชง-กัญชาด้วยซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความชัดเจนของธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน
รวมทั้งการลงทุนโครงการรับสร้างโรงไฟฟ้าบางไซมูลค่า 800 ล้านบาท โดยปีนี้รับรู้ 400 ล้านบาท และปีหน้า 400 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนใน BIGGAS เพื่อขยายตลาดธุรกิจน้ำมันและแก๊ส โดยพันธมิตรดังกล่าวจะเข้ามาเสริมในแง่ซัพพลายและตลาดอาเซียนคาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งรูปแบบการร่วมมือกันน่าจะเป็นการเข้ามาถือหุ้น BIGGAS อย่างไรก็ตามต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ก่อน
'พันธมิตรต่างชาติกำลังเจรจาอยู่นั้น เราต้องการหาช่องทางการเติบโตจากพันธมิตร โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและแก๊ส ซึ่งอนาคตจะเป็นหัวหอกในการขยายการเติบโต ปีนี้คาดธุรกิจน้ำมันและแก๊ส จะสร้างรายได้ 2,000-2,200 ล้านบาท และที่เหลือจะเป็นธุรกิจอื่นๆ'