ไทย-ตุรกี เจรจาเอฟทีเอ รอบ 7 สรุปได้อีก 2 ข้อบท
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมเจรจาเอฟีเอไทย – ตุรกี รอบที่ 7 คืบหน้าตามเป้า สรุปความตกลงได้เพิ่มอีก 2 เรื่อง ทั้งเรื่องความโปร่งใส และการระงับข้อพิพาท เร่งเดินหน้าปิดดีลจบปี 65
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ตุรกี รอบที่ 7 ผ่านระบบทางไกล กับนางบาฮาร์ กึซลือ รองอธิบดีกรมความตกลงระหว่างประเทศและกิจการสหภาพยุโรปของตุรกี ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาของสองประเทศ และการประชุมระดับเทคนิคของคณะทำงาน 6 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการค้าสินค้า การเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา โดยการเจรจามีความคืบหน้าด้วยดีตามที่ตั้งเป้าไว้
สำหรับการเจรจารอบนี้ สามารถสรุปผลการยกร่างความตกลงเอฟทีเอ เพิ่มอีก 2 บท คือ บทว่าด้วยความโปร่งใส และบทเรื่องการระงับข้อพิพาท ทำให้สามารถสรุปความตกลงได้ถึง 4 บท จากทั้งหมด 14 บท สำหรับบทที่ยังไม่สามารถสรุปได้ อาทิ บทว่าด้วยมาตรการเยียวยาทางการค้า บทว่าด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และบทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ในการเจรจารอบหน้า ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพื่อมุ่งปิดดีลการเจรจาในปี 2565
นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอการเปิดตลาด โดยเฉพาะรายการสินค้าที่จะลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน และเห็นว่าผลการเจรจาจะต้องเกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตและผู้ประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง และมีความสมดุลระหว่างระดับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับปรุงรายการสินค้าที่จะเปิดตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอกันอีกครั้ง ปลายเดือนเม.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจัดการประชุมทางไกลของคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ค. 2564 เนื่องจากการเจรจารอบนี้ยังไม่ได้มีการประชุมของคณะทำงานชุดนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของคณะทำงานชุดต่างๆ คืบหน้า ก่อนจะมีการประชุมเจรจาในรอบที่ 8
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยและตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านดอลลาร์ ไทยส่งออกไปตุรกี มูลค่า 952 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากตุรกี มูลค่า 388 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์พืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี