การท่าเรือฯ เร่งพัฒนาท่าเรือระนอง ดันประตูการค้าฝั่งตะวันตก
กทท.สตาร์ทโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ท่าเรือระนอง หนุนขนส่งเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ เล็งขยายพื้นที่หลังท่า เพิ่มพื้นที่ใช้สอย 4.2 หมื่นตารางเมตร รองรับตู้สินค้า 2.88 แสนทีอียู
พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวในฐานะประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กทท.ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง (ท่าเรือระนอง) จังหวัดระนอง ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) และผลักดันให้ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว กทท. ได้ดำเนินการให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (Consortium) ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ศึกษาและสำรวจออกแบบ (Detail Design) รวมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ของภาคประชาชนไปประกอบการดำเนินโครงการปรับปรุงท่าเรือระนองให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การจัดประชุมครั้งที่ 1 ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมทั้งประชาชนร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการศึกษาโครงการ โดยผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จะนำไปกำหนดขอบเขตการศึกษาเพื่อให้มีความครบถ้วน และรอบด้าน และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอต่อหน่วยงานอนุญาตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นชอบประกอบการขออนุญาตในลำดับถัดไป
รายงานข่าวจาก กทท.เผยว่า แนวทางเลือกการพัฒนาโครงการท่าเรือระนอง เบื้องต้นจะมีการก่อสร้างพื้นที่หลังท่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานของท่าเรือระนอง เพิ่มพื้นที่ใช้สอยกว่า 4.2 หมื่นตารางเมตร และรองรับตู้สินค้า 2.88 แสนทีอียู โดยแผนจะแบ่งเป็น ท่าเรือที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยรวม 1.4 หมื่นตารางเมตร สามารถรองรับปั่นจั่นหน้าท่าล้อยาง และรองรับตู้สินค้าได้ 9.6 หมื่นทีอียู
สำหรับท่าเรือที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ซึ่งจะมีพื้นที่ใช้สอยรวม 2.8 ตารางเมตร สามารถรองรับปั่นจั่นหน้าท่าล้อยาง และรองรับตตู้สินค้าได้ 1.92 แสนทีอียู โดยการออกแบบลานวางตู้สินค้าทั้งหมดนั้น จะใช้มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องในการออกแบบ