'อิปซอสส์' ชี้โควิด-19 กระทบปากท้องคนไทย ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล การฟื้นตัวเศรษฐกิจต่ำสุด! ในอาเซียน
โควิด-19 กระทบ "การเงิน" คนไทย ทั้งรายได้ลด เงินออมในอนาคตร่อยหรอ ส่วนสุขภาพจิต ยังกังวลโรคระบาดระลอกใหม่ มีโควิดไม่ช่วยสร้างความมั่นใจ รัฐต้องเร่งสื่อสารฟื้นความเชื่อมั่นฉีดวัคซีนปลอดภัย ปลุกเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้า
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นไวรัสมฤตยูกลายเป็น “ปัจจัยแห่งความกลัว” หรือ Fear Factor ที่คนทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยต้องอยู่อย่างไม่ประมาท ขณะเดียวกันต้องไม่หยุดนิ่งกิจกรรมต่างๆที่มีผลต่อ “ความเชื่อมั่น” และการเป็นฟนึ่งใน “ฟันเฟือง” ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การบริโภคในประเทศ เป็นหนึ่งในแรงส่งหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพี แต่ด้วยภาวะ “การว่างงาน” มนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก “ตกงาน” ทำให้รายรับหายไป การจับจ่ายใช้สอยจึงชะลอตัวโดยปริยาย
จากการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก มี.ค. 2563 ระลอก 2 ช่วงปลายปีที่ “สมุทรสาคร” และล่าสุด “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่ล้วนเป็นชนชั้นนำ คนใหญ่โตของบ้านเมือง นักธุรกิจ และพบไวรัสสายพันธุ์อังกฤษติดง่ายกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้กระทบ “ความเชื่อมั่น” ประชาชนในวงกว้าง
เมื่อโรคระบาดลากยาวข้ามปี อิปซอสส์ จึงทำวิจัย “วิถีชีวิตท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดใหญ่ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยท่ามกลางของการแพร่ระบาดของไวรัส โดยการศึกษาดังกล่าวทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 จากรอบแรกทำขึ้นเดือนพ.ค..63 ครั้งที่ 2 วิจัยเดือน ก.ย.63 และครั้งนี้วิจัยเดือนก.พ.64 ผ่านประชากร 3,000 ใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด หยิบผลวิจัยมาฉายภาพผลกระทบของโควิดต่อประชากรอาเซียนรอบด้านทั้งด้านความเป็นอยู่หรือเรื่องปากท้อง การเงินการงาน ด้านสุขภาพจิต ธุรกิจค้าขายลำบากและแนวโน้มสินค้าที่จะทำตลาดยากยิ่งขึ้น รวมถึงความกังวลใจ ข้อเรียกร้องจากประชาชนที่มีต่อ “รัฐบาล” ในแต่ละประเทศ
แม้ประชากรอาเซียนจะเริ่มปรับตัวได้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แต่ด้านความกังวลใจไม่ลดลงแต่อย่างใด เพราะคาดการณ์ว่าทุกอย่างจะไม่ดีขึ้นในเร็ววันนี้ เดิมชาวอาเซียน 20% มองว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น แต่ปัจจุบันลดเหลือ 12% เท่านั้น ล่าสุดคลัสเตอร์ทองหล่อเป็นชนวนเหตุการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ยิ่งเพิ่มความกังวลให้คน “กลัวติดเชื้อโควิด” มากขึ้น ท่ามกลางการมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนแล้วก็ตาม
“คนไทยกังวลเกี่ยวกับโรคโควิดถึง 80% สูงสุดในอาเซียนซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70%”
เมื่อไม่คลี่คลายความกังวลใจ อิษณาติ จึงเจาะลึกผลวิจัยด้านผลกระทบด้านบุคคลทั้งมิติ “การเงิน” และมิติ “สุขภาพจิต” เป็นดังนี้
++ชาวอาเซียนรายรับ-เงินเก็บลด
คนไทยหวังรัฐเพิ่มเงินสดสูงสุด
ด้านการเงิน มิติของรายได้ เรื่องปากท้องเรื่องใหญ่ของทุกคนทุกบ้าน แต่ไวรัสร้ายทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจพังเสียหาย คนจึงมี “รายได้” ลดลง ค่าเฉลี่ยชาวอาเซียน 70% ที่รายได้ลด แต่ไทยเกินค่าเฉลี่ยภูมิภาค ด้วยสัดส่วน 80% ที่เผชิญรายรับน้อยลง เนื่องจากมองโครงสร้างเศรษฐกิจต้องพึ่งพาท่องเที่ยว การส่งออก เมื่อท่องเที่ยวเซ็คเตอร์ใหญ่พังพาบ คนทำงานในห่วงโซ่อุตสาหกรรมจึงเดือดร้อนหนัก ผลกระทบดังกล่าวของไทยถือว่าตีคู่มากับอินโดนีเซียที่ 82% รายได้ไม่พอ
“คนไทยรายได้ไม่พอมากสุดในอาเซียน จึงเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงิน”
มิติของเงินออม รายได้ลดย่อมกระเทือน “เงินเก็บ” โดย 6 เดือนที่ผ่านมาชาวอาเซียนนำเงินออมามใช้จ่ายแล้วเกินกว่า 50% โดย 80% ของคนไทยเงินเก็บน้อยลงเรียกว่า “ย่ำแย่สุด” ในอาเซียนมีค่าเฉลี่ยเงินเก็บลดลงที่ 70%
++คนไทยกังวลมากขึ้น
จึงรัดเข็มขัด ระวังการใช้จ่าย
ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพจิต จำนวน 56% ชาวอาเซียนยังคงรู้สึกแย่! ส่วนไทยนำโด่งที่ 65% สูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นเดิม เมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้น ออกไปไหนก็กังวลความปลอดภัย การติดไวรัส ทำให้แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งโพสต์ข้อความ Anxiety Income Fear Loss Scare Worried Depression เป็นต้น
ปัจจัยดังกล่าว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีการพบปะเพื่อนฝูงบ้าง ใช้บริการโดยสารสาธารณะ ไปร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังมีโอกาส ทว่า พฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงคือการไปยิม ออกกำลังกาย ท่องเที่ยวในประเทศ ร่วมกิจกรรมต่างๆที่ต้องรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน รวมถึงเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้น ธุรกิจที่อิงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบระยะยาว
ความกลัวไวรัส ยังส่งผลให้ผู้บริโภคอาเซียน 85% ระมัดระวังการใช้จ่าย ซื้อข้าวของที่จำเป็น เริ่มสต๊อกสินค้าอีกครั้ง โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล ทำให้สินค้าเหล่านี้ยังมีหวังทำยอดขาย ส่วนการซื้อสินค้าแบรนด์ใหม่มีเพียง 32% นั่นหมายความว่า การจะออกสินค้าแบรนด์ใหม่แจ้งเกิดเวลานี้ เป็นเรื่อกโหดหิน!เพราะผู้บริโภคไม่เปิดใจลอง รวมถึงสินค้าราคาแพง จะไม่หยิบจับนัก มีเพียง 19% ที่ยังพร้อมจับจ่ายของแพง
“การระบาดของไวรัสทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายชัดเจน เริ่มตุนสินค้า เพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่จับจ่ายใช้สอยดีขึ้น เพราะรัฐบริการจัดการโรคระบาดได้ดี ให้เงินช่วยเหลือ คนจึงกังวลการใช้จ่ายน้อยลง”
++ออนไลน์ขาขึ้นต่อเนื่อง
ไวรัสร้ายกลายเป็นปฏิกิริยาเร่งให้ “ออนไลน์” ทวีความสำคัญต่อชีวิตผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการใช้เวลากับ “ครอบครัว” เพิ่ม แม้จะมีประเด็นตลกร้ายฉายความสัมพันธ์ “การทะเลาะกันมากขึ้น” ก็ตาม
สำหรับการชอปปิงออนไลน์ประชากรอาเซียนกว่า 50% ที่ใช้จ่ายช่องทางดังกล่าว ขณะที่คนไทยรอบ 1 ปีที่ผ่านมา 83% เคยซื้อของออนไลน์ และ 57% ช้อปออนไลน์เพิ่ม มี 86% ไม่ใช้เงินสดหรือ Cashless เวลาจับจ่ายในห้างร้านต่างๆ และ 54% ใช้เงินสดน้อยลง
“โควิดกระตุ้นกิจกรรมเหล่านี้” พฤติกรรมดังกล่าวจะไม่หายไป เพราะ 22% จะซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ต่อแม้ไม่มีโควิดระบาดแล้ว
++คนไทยมอง 6 เดือนข้างหน้ายังแย่
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ไม่ซื้ออสังหาฯ-รถยนต์
อิษณาติ กล่าวอีกว่า ปัจจัยลบรายล้อมทุกประเทศกังวลเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไทยมองต่างเพราะสะท้อนเศรฐกิจตอนนี้แย่ มีเพียง 11% บอกว่าเศรษฐกิจ “ดี” ซึ่งต่ำสุดในอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวมองเศรษฐกิจในประเทศ “ดี” ส่วน “มองอนาคต 6 เดือนข้างหน้า” ไทยและมาเลเซีย “รั้งท้าย” มองเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
“แม้มีวัคซีน ท่องเที่ยวเริ่มเปิดได้ แต่คนไทยยังมองเศรษฐกิจปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้ายังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี มีเพียง 30% ที่มองเศรษฐกิจจะดี แต่เป็นเปอร์เซ็นที่ลดลง”
ความหวังเศรษฐกิจไม่มี รายได้ยังลดลง จึงส่งผลต่อการใช้จ่ายในอนาคต โดยสินค้าจำเป็นทั้งอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ส่วนบุคคลยังถูกซื้อ แต่ “สินค้าขนาดใหญ่” ที่ราคาแพงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็น “อสังหาริมทรัพย์” และ “รถยนต์” ต้องเบรกไว้ยาวๆ
“ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช้จ่ายสินค้าหมวดใดๆขึ้นเลย เพราะคนยังกังวลใช้จ่าย ยิ่งโควิดระบาดอีกระลอก อาจปิดธุรกิจบางส่วน เช่น ผับ สถานบันเทิง กระทบงานและรายได้ของประชาชน”
++เร่งฟื้นเชื่อมั่นวัคซีน-ปากท้อง
แม้ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ประชาชนยังกังวลทั้งจำนวนวัคซีนที่มีเพียงพอต่อคนทั้งประเทศ ยิ่งกว่านั้นวัควีนที่นำมาฉีดจะต้องมีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยห่างไกลโรคและไม่มีผลข้างเคียงด้วย
ความกังวลดังกล่าว ทำให้ประชาชนไทยและอาเซียนกว่า 50% ต้องการ “รออีก 1 ปี” จึงจะมั่นใจเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดครอบคลุมประชากรล่าช้า ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมโรคระบาด รวมถึงฉุดเศรษฐกิจให้กระทบยาวด้วย
“ไทยมีเพียง 35% ที่มั่นใจในการฉีดวัคซีน ซึ่งต่ำสุดในอาเซียน แม้มีวัคซีนพร้อมแล้วจะฉีดเลยไหมใน 1 เดือน 3 เดือนหรือ 6 เดือน ส่วนใหญ่ขอรอ 1 ปี ปัญหาจึงไม่ใช่แค่มีวัคซีนเพียงพอต่อคนในชาติ แต่วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฉัดวัคซีน สิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องการคือการช่วยเหลือด้านการเงิน อยากให้รัฐเพิ่มเงินสดมากสุดในอาเซียน”