โควิดฉุดความเชื่อมั่นอสังหาฯซึมยาว 8 ไตรมาส
ดัชนีความเชื่อมั่นอสังหาฯ ไตรมาสแรก "ทรงตัว" แต่ต่ำกว่าค่ากลางต่อเนื่อง 8 ไตรมาสขณะที่ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความมั่นใจหลังจากผลประกอบการและยอดขายดีขึ้น
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า จากการรายงานผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน พบว่า ไตรมาสแรกปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.3 โดยยังมีค่าดัชนีทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนและยังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 ติดต่อกันถึง 8 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2562 จากการมาตรการแอลทีวีในเดือนเม.ย. 2562 ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัด
ประกอบกับในไตรมาสแรกปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องไปในบางพื้นที่ อีกทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม บริษัทในตลาดหลักทรัพย์(Listed Companies) มีค่าดัชนีเท่ากับ 49.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 49.2 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม นอกตลาดหลักทรัพย์ (Non-listed Companies) มีค่าดัชนีเท่ากับ 41.7 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.1 โดยค่าดัชนีของผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่มยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50
ทั้งนี้ จะเห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่ม บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และกลุ่มนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้อย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการในกลุ่ม บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีความเชื่อมั่นในเรื่องผลประกอบการ ยอดขายและการลงทุนสูงกว่าระดับ 50.0 ขณะที่กลุ่มนอกตลาดหลักทรัพย์ ต่ำกว่า 50 อย่างชัดเจน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 58.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัท พบว่ากลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 63.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.7 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม นอกตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.5 จะเห็นได้ว่าทั้งผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่ม เริ่มมีความเชื่อมั่นในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุน ผลประกอบการและยอดขายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการครั้งนี้ได้ทำการสำรวจในช่วงกลางเดือนก.พ.– มี.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนบางกลุ่มในประเทศไทย และรัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (ไม่นับรวมบ้านมือสอง) ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10 ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในอนาคตมากยิ่งขึ้น