อาฟเตอร์ยู...อาฟเตอร์ช็อก!!
โควิดคืออาฟเตอร์ช็อก! ทำให้ธุรกิจ "เขย่าแผน" ครั้งใหญ่ เพื่อให้กิจการรอดพ้นเงื้อมมือโรคระบาด "อาฟเตอร์ ยู" ขนมหวานพันล้าน! ตีโจทย์ใหม่ รัดกุมลงทุน ส่ง "มิกก้า" สปีดชิงแชร์ร้านกาแฟ ผุดแอ๊พฯเก็บข้อมูลมัดใจลูกค้า รอวันวิ่งฉิวทำรายได้-กำไรแกร่ง!
ย่างสู่ 14 ปีกับการแจ้งเกิดร้านขนมหวานแบรนด์ “อาฟเตอร์ ยู”(After You) ได้อย่างงดงาม เพราะเส้นทางธุรกิจ “เติบโต” อย่างดี เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ
ปี 2559 ผู้ปลุกปั้นธุรกิจอย่าง “เมย์ กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” และ “แม่ทัพ ต. สุวรรณ” ยังผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(MAI) สร้างรายได้แตะ “พันล้าน” สามารถทำ “กำไร” หลัก “ร้อยล้านบาท”
ยิ่งกว่านั้น ปี 2562 อาฟเตอร์ ยูได้รับการยกย่องจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าเป็น “หุ้นร้านอาหาร” ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เรียกว่าเป็นหุ้นที่หอมหวานเย้ายวนนักลงทุนไม่น้อย
อาณาจักรขนมหวานของผู้บริหารรุ่นใหม่ยังขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง มีร้านกว่า 40 สาขา และยังปั้นโมเดลธุรกิจใหม่อย่างร้านกาแฟแบรนด์ “มิกก้า”(Mikka) เพื่อชิงคอกาแฟนอกบ้าน ฯ แผนขยายธุรกิจของอาฟเตอร์ ยู ถือว่าวางหมากรบที่น่าสนใจ เพราะการพุ่งเป้าเติบโตมีทั้งในบ้านและต่างแดน
ทว่า ปี 2563 โลกต้องเจอบททดสอบครั้งใหญ่ เพราะต้องเผชิญกับ “โรคโควิด-19 ระบาด” สร้างผลกระทบวงกว้างทุกประเทศ ประชาชนทุกระดับทั้งยากดีมีจนเศรษฐีต่างหนีการเจ็บป่วยไม่พ้น ส่วนเศรษฐกิจเสียหายหนัก ลามถึง “ธุรกิจ” เพราะมาตรการ “ล็อกดาวน์” ที่หลายประเทศงัดมาสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ “ยอดขายหาย-กำไรหด” ส่วนมนุษย์เงินเดือนที่เคยมีงานทำต้อง “ว่างงาน-ตกงาน” นับล้าน
เมื่อทุกภาคส่วนยากจะรอดพ้นจากเงื้อมมือวิกฤติอันใหญ่หลวง รวมถึง “อาฟเตอร์ ยู” ทำให้การเขย่าแผนธุรกิจต้องถูกนำมาใช้เฉกเช่นองค์กรเล็กใหญ่อีกจำนวนมาก
ภาคการค้าขาย นักธุรกิจหลายคนอาจยกให้ “โรคโควิด-19” เป็น Wake up call ส่งเสัยงเตือนให้องค์กรระมัดระวังความเสี่ยงใหม่ๆที่จะดาหน้าเข้ามา บ้างว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด(Perfect storm)ที่ทำให้ต้อง “ปรับตัว” ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ต่างๆอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
++อาฟเตอร์ ยู พร้อมทุกวัน
เพื่อวิ่งไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม
เมื่อธุรกิจขนมหวานกำลังเจอรสชาติขมขื่นจากวิกฤติ เพราะยอดขายที่หดตัว “กำไร” ปี 2563 ที่ตกลงอย่างหนักเหลือกว่า 55 ล้านบาท จากปี 2562 กว่า 237 ล้านบาท ทำให้บริษัทปรับตัวรอบด้าน ไม่เพียงเพื่อให้ธุรกิจก้าวข้ามห้วงเวลาเลวร้าย แต่ยังมุ่งเป้าไปสู่การเติบโตที่ดีเหมือนก่อนเจอโรคระบาด ที่มีรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท กำไรกว่า 237 ล้านบาทนั่นเอง
“เราปรับตัว เตรียมตัว เพื่อวิ่งกลับไปสู่จุดนั้น หรืออาจสูงกว่าจุดนั้นอยู่แล้ว” แม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน)หรือ AU ภายภาพพร้อมขยายความถึงเงื่อนไขสำคัญคือตลาดต้องเปิด เงินในระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนที่ดี ซึ่งภาพดังกล่าวต้องใช้เวลา เพราะวิกฤติโรคระบาดกระทบท่องเที่ยวหนักหนาสาหัส และเซ็คเตอร์ดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยสัดส่วนที่สูง แต่ไวรัสมฤตยูทำลายล้างเศรษฐกิจให้พังพาบหนักกว่าที่คาดการณ์มากๆ
“ผมพร้อมทุกวัน ขอให้ตรงนั้น(เศรษฐกิจ กำลังซื้อฟื้นตัว)กลับมา และมั่นใจว่าต้องกลับมา แต่ตคงต้องใช้เวลา”
ความไม่แน่นอนมีสูง และ Fear Factor โรคโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าบรรเทา ซ้ำร้ายประเทศไทยเจอการระบาดระลอกใหม่จาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” สายพันธุ์อังกฤษมาเคาะหน้าบ้านอย่างเป็นทางการ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนโดยเฉพาะปากท้อง หน้าที่การงาน และความปลอดภัยในชีวิต
ขณะที่ “บทเรียน” จากการล็อกดาวน์ค้าขายไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้ทฤษฎี คัมภีร์ธุรกิจเดิมๆ แต่ต้องหาศาสตราวุธการตลาดใหม่ๆ มาทำฟื้นธุรกิจให้อยู่รอดในสเต็ปแรก และเติบโตอย่างแข็งแรงในสเต็ปถัดไป
++เบรกลงทุนร้านอาฟเตอร์ ยู
มิกก้า-ป๊อปอัพ สโตร์-มาร์เก็ตเพลส ฟื้นรายได้
สำหรับแผนธุรกิจปี 2564 “แม่ทัพ” บอกว่าต้องเดินเกมอย่างรัดกุม “ระมัดระวังอย่างมาก” การลงทุนเปิดร้านอาฟเตอร์ ยู แทบจะไม่เห็น เพราะนาทีนี้การกอดเงินสดไว้(Cash is King)เป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องงัดมาใช้ มีเงินไว้ยามยากย่อมอุ่นใจกว่า
“งบลงทุนปี 64 ใช้น้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย ร้านอาฟเตอร์ ยูเต็มที่อาจเปิด 2 สาขา” ทั้งนี้ การจะเปิดร้านต้องรอดูจังหวะโควิดคลี่คลาย ไทยเปิดประเทศ อ้ารับนักท่องเที่ยวและเห็นการฟื้นตัว
ส่วนพระเอกที่จะเป็นทัพหน้าขยายสาขาคือร้านกาแฟ “มิกก้า” แต่จะใช้โมเดล “แฟรนไชส์” เป็นตัวสปีด เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจจะเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรค้าขายจำนวนมาก และบริษัทตั้งเป้าจะมีร้านใหม่ราว 100 สาขา ผลักดันสิ้นปี 2564 มิกก้ามีร้านไม่ต่ำกว่า 150 สาขา จากปัจจุบันราว 60 สาขา
ปกติการลงทุนเปิดร้านอาฟเตอร์ ยู ใช้เงินลงทุนราว 4.5-7.5 ล้านบาท คืนทุนไม่เกิน 2-2.5 ปี ส่วนมิกก้าอยูที่ 3 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท คืนทุน 1-1.5 ปี (ด้านงบลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และวัสดุก่อสร้าง ส่วนคืนทุนขึ้นอยู่กับทำเล พื้นที่และองค์ประกอบอื่นๆ)
หากมองในเชิง Positioning ของมิกก้า เป็นแบรนด์กาแฟน้องใหม่ระดับกลาางที่พร้อมท้าชนกาแก “อเมซอน” เจ้าตลาด ด้วย “ราคา” จับต้องได้ 45-75 บาทต่อแก้ว รวมถึงเป็นราคาขนมที่จำหน่ายภายในร้านด้วย และมิกก้ายังมาอุดช่องว่างตลาดให้กับอาฟเตอร์ ยู ที่แบรนด์ค่อนข้างจับกลุ่มเป้าหมายระดับกลางถึงบน ที่มีกำลังซื้อสูง
ด้านการลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงโควิดทำให้คนตกงานมหาศาล ส่วนคนที่มีงานทำ ต้องหางานสำรองเป็นแหล่งรายได้ที่ 2 เพื่อให้ฐานะการเงินส่วนบุคคลแข็งแกร่ง หล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวแข็งแกร่งได้ ซึ่งการเลือก “เปิดร้านกาแฟ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะขนาดนักเตะดังระดับภูมิภาคอย่าง “ชนาธิป สรงกระสินธ์” ที่ทำเงินหลักร้อยล้านบาท ยังมองการลงทุนสร้างผลตอบแทนและความมั่งคั่งให้กับชีวิตเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม อาฟเตอร์ ยูจะผลักดันให้ “มิกก้า” เป็นแฟรนไชส์ลงทุนมากสุด ส่วนบริษัทจะลงทุนเท่าที่จำเป็น เช่น สาขาเรือธงเป็นต้นแบบในต่างจังหวัดให้กับแฟรนไชส์ซี รวมถึงเจาะทำเลสำคัญ(Strategic Location) เป็นหลัก
“มิกก้า เราอยากให้แฟรนไชส์ซีลงทุนมากสุดเท่าที่จะมีโอกาส” ปัจจุบันมิกก้ามีสาขาอยู่ภายใต้การบริหารอาฟเตอร์ ยู 30% และแฟรนไชส์ซี 70%
อีกหนึ่งกลยุทธ์ต้องให้น้ำหนักปีนี้ คือร้านอาฟเตอร์ ยู ในรูปแบบ Pop-up Store ไปยังทำเลต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ทดลองเปิดที่ต่างจังหวัดได้ผลตอบรับดีจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ “เกินคาด” เติบโต 22% รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ในร้านอาฟเตอร์ ยู ในสาขาที่มีศักยภาพเพื่อทำ “อาฟเตอร์ ยู มาร์เก็ตเพลส” ขายสินค้าเมนูยอดนิยม เมนูใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อกลับบ้าน
การปรับตัวเหล่านี้ ล้วนสร้างรายได้ทดแทนยอดขายในร้านที่ “หดตัวลง” ซึ่งการเข้ารับประทานที่ร้านลดลง 50% ทั้งจากนักท่องเที่ยวหายไป และมาตรการระยะห่างทางสังคม ทำให้ต้องเว้นพื้นที่นั่งแก่ลูกค้า
สินค้า คือ “หัวใจ” สำคัญของการทำธุรกิจ งานหนักและท้าทายไม่ได้อยู่แค่ฝ่ายบริหาร การเงิน แต่ตกไปอยู่กับผู้ก่อตั้งอย่าง “เมย์ กุลพัชร์” ด้วย เพราะเป็นผู้พัฒนาและคิดค้น “เมนูใหม่ๆ” ออกสู่ตลาด สร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภคกินขนมหวานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาออกสินค้าใหม่เแลี่ย 1-2 รายการต่อเดือน เช่น คากิโกริมะม่วงน้ำปลาหวาน คากิโกริแตงไทยอะโวคาโดน้ำกะทิ และยังหาโอกาสรังสรรค์เมนูเกี่ยวกับพืชกัญชา เป็นต้น
“โจทย์รังสรรค์ขนมหวานเมนูใหม่ไม่ง่าย เพราะขนมในร้านหรือทานที่บ้านต้องอร่อย สด แปลกใหม่ไม่แพ้กัน ซึ่งคุณเมย์อยากให้ติดตามผลงาน” และไม่ใช่แค่เมนูใหม่ เพราะ “เมย์ กุลพัชร์” จะมีเซอร์ไพรส์!!แบรนด์และโมเดลธุรกิจใหม่ด้วย
ที่ขาดไม่ได้คือการรุกตลาดเดลิเวอรี่ การซื้อกลับบ้าน เสิร์ฟขนมหวานให้ผู้บริโภคทานทุกที่ทุกเวลา แม้บริการดังกล่าวจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสช่วยฟื้นรายได้ให้บริษัท
++เร่งเสิร์ฟขนมหวานที่ “ฮ่องกง”
เล็งจรดปากกาพันธมิตร “จีน”
แผนกรุยทางสร้างแบรนด์ร้านขนมหวานสัญชาติไทยในเวทีโลก มีมานาน แต่ความพยายามเปิดร้านที่ต่างแดนไม่ง่าย ยิ่งเกิดโรคโควิดระบาด ทำให้ธุรกิจต้องชะงัก!!
“แม่ทัพ” เล่าถึงอุปสรรคการขยายธุรกิจที่ฮ่องกงหลักๆคือเรื่อง “เอกสาร” หากทุกอย่างดำเนินการได้ บริษัทจะเร่งเปิดร้านอาฟเตอร์ ยูสาขาแรกที่ฮ่องกงให้ได้ภายในไตรมาส 3 เมื่อคิกออฟร้านแรกได้ สาขาที่ 2 และ 3 จะตามมาไม่ยากและเดินเกมไดเร็วขึ้นด้วย
“ร้านที่ฮ่องกง เราเร่งมือเต็มที่ แต่ก็ยากลำบากเพราะโควิด”
ส่วน “จีน” ตลาดใหญ่ที่จะเข้าไปเปิดตลาด ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการทำงาน มีการร่างสัญญา พิจารณาข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความตกลงที่ “เห็นด้วย” จากทั้ง 2 ฝ่าย เบื้องต้นยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก
“จีน..จะทำอะไรก็มีโควิดมาแทรก แต่ตอนนี้เรามีพันธมิตรในใจแล้ว การเปิดร้านจะเห็น 1 มณฑลก่อน”
ใช่ว่ามีแค่พันธมิตรในต่างประเทศที่น่าจับตา เพราะในประเทศ “บีทีเอส” เข้ามาถือหุ้นบริษัทกลายเป็น “จิ๊กซอว์” ที่ทำให้เกิด Win-win ทั้งคู่ ซึ่งอนาคต “พื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้า” จะมีร้านขนมหวานอาฟเตอร์ ยู ร้านกาแฟมิกก้า และแบรนด์ใหม่ ไปเสิร์ฟลูกค้าแบบประชิดตัวด้วย
++ผุดแอ๊พพลิเคชั่น มัดใจลูกค้า
การแข่งขันของธุรกิจใน “ยุคดิจิทัล” ใครที่มี “ฐานข้อมูลลูกค้า” หรือ Big Data รู้จักผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าเป็นใคร อายุเท่าไหร่ เพศอะไร ทำงานอะไรหรือลักษณะประชากรศาสตร์แบบเดิมๆย่อมไม่พอ เพราะปัจจุบัน “ความสนใจ” ไลฟ์สไตล์อีกร้อยแปดพันประการของลูกค้าคือสิ่งที่แบรนด์ต้องรู้แบบเจาะลึกขั้นสุด เพื่อนำมาวางแผนตอบสนองความต้องการ เพิ่มโอกาสชนะใจกลุ่มเป้าหมายและชนะคู่แข่งมากขึ้น
อาฟเตอร์ ยู มีฐานลูกค้าสมาชิกกว่า 4 แสนราย จึงเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่า หากปล่อยหมัดเด็ดการตลาดช่วย Up-selling Cross-Selling ได้ ย่อมมีผลต่อ “กำไร”
บริษัทจึงเปิดตัวแอ๊พพลิเคชั่น “After You” มาให้ลูกค้าดาวน์โหลดทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android มิลล์ กนกวัฒนาวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) เล่าว่า แอ๊พพลิเคชั่นอาฟเตอร์ ยู พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคหลายด้าน โดยเฉพาะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างเอ็นเกจเมนต์ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และจัดลอยัลตี้โปรแกรม ให้สิทธิพิเศษต่างๆ
เมื่อแอ๊พพลิเคชั่นมาตอบไลฟ์สไตล์สะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภครับรู้เมนูใหม่ทันที กระตุ้นต่อมอยากเติมความหวานได้ จองคิวก่อนไปใช้บริการที่ร้าน มีข้อมูลแจ้งร้านไหนคิวมากน้อย สั่งเมนูขนมหวานล่วงหน้า ไปถึงร้านแค่ชำระเงิน ลดการออกันหน้าเคาน์เตอร์ หรือจะพรีออเดอร์สินค้า ซึ่งแอ๊พฯดังกล่าว อาฟเตอร์ ยูยังพัฒนาวอลเล็ทเป็นของตัวเองด้วย
ด้านผลประกอบการปี 2563 จะลดลงค่อนข้างมาก แต่ มิลค์ บอกว่าท่ามกลางวิกฤติบริษัทใช้โอกาสทำหลายสิ่ง อย่างการทำองค์กรให้กระชับมากขึ้น พนักงานที่เป็นต้นทุนคงที่มีการให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง(Leave without pay) สลับเวลากันทำงาน โยกพนักงานไปบริการร้านป๊อปอัพสโตร์มากขึ้น ฯ และการลุยโปรเจคใหม่ๆ
“อะไรลีนได้ เราทำให้มากสุด พัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ พยายามทำรายได้ ตอนนี้อะไรขายได้ก็ขาย สร้างยอดขายได้เราทำหมด และการผลักดันรายได้กลับไปปี 62 ไม่มีปัญหา เราแค่รอเวลา เปิดประเทศเมื่อไหร่ เราวิ่งแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ยูโรมอนิเตอร์ รายงานสถานการณ์ตลาดร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายหรือ Chained foodservice คาเฟ่ต่างๆ ปี 2563 มูลค่าอยู่ที่ 419,353 ล้านบาท ช่วงโควิดกระทบตลาดหดตัว 26% แต่คาดการณ์ปี 2563-2568 จะเติบโตเฉลี่ย 9% มูลค่าแตะ 684,774 ล้านบาท การฟื้นตัวดังกล่าวจึงเป็น “ความหวัง” ของผู้ประกอบการที่จะเก็บเกี่ยวขุมทรัพย์ สร้างการเติบโตให้อาณาจักรของตนเองยิ่งใหญ่ได้ระยะยาว