Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 12 April 2021
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดัน จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 – 16 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการที่กลุ่มโอเปคและพันธมิตรมีมติทยอยเพิ่มการผลิตตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป รวมถึงความไม่แน่นอนของการกลับมาผลิตน้ำมันดิบของอิหร่าน หลังอิหร่านและชาติมหาอำนาจอีก 5 ชาติ หันกลับมาเจรจาโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 6.0%
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ท่ามกลางความคืบหน้าของการแจกจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ในยุโรป, สหรัฐฯ และเอเชีย จึงทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาด รวมถึงประเทศอินเดียที่พิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายรัฐสำคัญหลังจากที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าแสนรายในวันเดียวนอกจากนี้หน่วยงานดูแลความปลอดภัยยา (MHRA) ของสหราชอาณาจักรออกรายงานยืนยันว่าวัคซีน AstraZeneca เชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือด ส่งผลให้สหราชอณาจักรกำลังพิจารณาระงับการใช้วัคซีนดังกล่าวกับประชาชนที่อายุน้อย เช่นเดียวกับแคนาดา และเยอรมนีที่ประกาศใช้วัคซีน AstraZeneca เฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- ความคืบหน้าของการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งทำขึ้นกับอิหร่านปี 2558 มีสัญญาณดีขึ้น หลังจากประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ จีน, รัซเซีย, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อังกฤษ และ อิหร่านมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในยุคของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ โดยในที่ประชุมมีมติจัดตั้งคณะการทำงานเพื่อพยายามดึงให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งโดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวกลางในการเจรจา แม้ว่าสหรัฐฯ และอิหร่านยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ แต่ทั้งสองประเทศระบุว่ามีความคืบหน้าในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นนี้
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นหลังดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.2 ในเดือน มี.ค. จาก 48.8 ในเดือน ก.พ. เช่นเดียวกับดัชนี PMI ของจีนที่ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 54.3 จากเดือน ก.พ. ที่ 51.5 ขณะที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้นเป็น 6.0% จากคาดการณ์ไว้ในเดือน ม.ค. ที่ 5.5% ซึ่ง IMF มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และ แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกดีขึ้น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังกำลังการผลิตโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.1 แตะระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ที่ร้อยละ 84 ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบปรับลดลงที่ระดับ 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 2 เม.ย. ปรับลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 501.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับรับสวัสดิการว่างงาน ดัชนีผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมไตรมาสที่ 1 ของจีน และดัชนียอดขายปลีกยูโรโซนเดือน ก.พ.
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 59.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 62.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้หลายประเทศในทวีปยุโรป และเอเชียได้กลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งเพื่อยับยั้งการระบาดส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ประเทศกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรตกลงที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป รวมถึงประเทศซาอุดิอาระเบียที่ตัดสินใจผ่อนคลายการปรับลดการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งก่อนหน้านี้ได้อาสาคงระดับการปรับลดการผลิตไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์การเศรษฐกิจโลกจะสามารถขยายตัวได้ 6.0% จาก 5.5% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าในเดือน ม.ค.