ค่าเงินบาทวันนี้ 20 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ หลังราคาทองคำยังรับแรงหนุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 20 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ หลังราคาทองคำยังรับแรงหนุน

ค่าเงินบาทวันนี้ 20 พ.ย. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ราคาทองคำยังรับแรงหนุนจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และดอลลาร์อ่อนค่าตามการขายทำกำไร มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.35 -34.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.65 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Down หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.49-34.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) 

นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังร้อนแรงและเสี่ยงที่จะบานปลาย กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรชาติตะวันตก อย่าง NATO รวมถึงมีความเสี่ยงที่รัสเซียอาจพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้ (อาทิ Tactical Nuclear Weapons) หลังล่าสุดสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ยูเครนใช้ระบบอาวุธ ATACMS (MGM-140 Army Tactical Missile System) โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย เฉพาะในพื้นที่ Kursk Oblast เท่านั้น

   อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า (Importers) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งความกังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการระงับการผลิตน้ำมันดิบจากบ่อน้ำมันของนอร์เวย์ 

 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมั่นใจต่อ Call Short-term USDTHB peak ของเราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังเงินบาทเริ่มชะลอการอ่อนค่าลงและมีโอกาสที่เงินบาทอาจสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นและเป็นสินทรัพย์ที่ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือครองในช่วงตลาดเผชิญความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ แม้เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยบ้าง แต่เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD เพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดในช่วงระยะสั้นนี้เช่นกัน (หากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนแนวรับสำคัญ ก็อาจเร่งการปิดสถานะ Short THB ได้) นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็เริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ (Buy on Dip) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ที่อาจพอกดดันเงินบาทและชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ แต่หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อาจเปิดโอกาสที่เงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินอาจถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +4.9% ตามความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า Nvidia อาจรายงานผลประกอบการและคาดการณ์รายได้ที่แข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อ -0.45% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น เสี่ยงบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ทว่าความกังวลดังกล่าวยังพอช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นที่เกี่ยวกับอาวุธสงครามสามารถปรับตัวขึ้นได้ อาทิ Rheinmetall +3.9% และ BAE Systems +1.3% 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมแกว่งตัวระหว่างโซน 4.30%-4.40% โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 59% ในการลดดอกเบี้ย 25bps ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ อนึ่ง เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ที่ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยสะสมมาอย่างต่อเนื่องในธีม Trump Trades ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 155 เยนต่อดอลลาร์ จากที่แกว่งตัวแถวโซน 153.50 เยนต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,630-2,640 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ของอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอลงชัดเจน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ BOE จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็สามารถกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ในระยะสั้น

ส่วนฝั่งเอเชีย เราประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ซึ่งเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามาพอสมควรนับตั้งแต่ช่วงก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียก็ยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน จนทำให้ BI มีความจำเป็นต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้   

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ Nvidia ซึ่งจะรับรู้ในช่วง After Hour ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงในช่วงนี้