รัฐบาลเดินหน้าใช้ประโยชน์เอฟทีเอบุกตลาดเกษตรต่างประเทศ

รัฐบาลเดินหน้าใช้ประโยชน์เอฟทีเอบุกตลาดเกษตรต่างประเทศ

รัฐบาลเดินหน้า “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” ส่งออกสินค้าเกษตรโต เร่งใช้ประโยชน์FTA รับรองมาตรฐานการเกษตรปูทางส่งออกต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูงว่า รัฐบาลได้ใช้แนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยเป็นการขับเคลื่อนการทำงานอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ตั้งแต่การผลิตที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องความต้องการผู้บริโภค มีประสิทธิภาพ และการจัดการการตลาดในตลาดต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวโน้มปี 2564 พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดโลกในช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ.ปีนี้ ขยายตัว โดยกลุ่มผักผลไม้ยังขยายตัวมากที่สุด คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 1.9-2.9% สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1-2% สาขาประมงขยายตัว 0.1-1.1% สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัว 0.2-1.2% และป่าไม้ขยายตัว 1-2%

หากเจาะลึกตลาดที่ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศ จากข้อตกลง 13 ฉบับ ในปี 2563 สินค้าเกษตรส่งออก 14,876 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 และคิดเป็น 71% ของการส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลก ด้วยประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรกรและผู้ประกอบการเพื่อเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA จะได้เพิ่มโอกาสในการส่งออก มากไปกว่านั้น เฉพาะตลาดส่งออกผลไม้ ที่ปีที่แล้วมีมูลค่า 1.04 แสนล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดแผนงานจับคู่เจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายจากต่างประเทศ และที่ได้จัดไปแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีประเทศเข้าร่วมเช่น  จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา สเปน ก่อให้เกิดการเจรจาซื้อขาย ไม่ต่ำกว่า 1.8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากการหาตลาดแล้ว สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรไทย คือ มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย โดยในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดแผนรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) 120,000 แปลง แบ่งเป็น ผลไม้ 6.5 หมื่นแปลง (ผลไม้หลัก เช่น ลำใย ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน มะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้ที่ต้องใช้การรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก) พืชผัก 2.1 หมื่นแปลง และอื่นๆ 3.3หมื่นแปลง เช่น กาแฟ ถั่วลิสง และสำหรับสินค้าปศุสัตว์และประมง กระทรวงฯจะเดินหน้าพัฒนาฟาร์มเลี้ยงทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP หรือมาตรฐานด้านการจัดการสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ รวมถึง HACCP ซึ่งเป็น เป็นระบบควบคุมคุณภาพการผลิตที่ใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ

สำหรับความกังวลเรื่องการแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่เป็นความเสี่ยงของภาคการเกษตรนั้น รัฐบาลได้มีแนวทางป้องกันไว้แล้ว อาทิ การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบเตือนภัยด้านการเกษตร อีกทั้งทางกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร จะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ครอบคลุมทุกชนิดสินค้าเกษตร คาดว่าจะสามารถลดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดภัยพิบัติ มากถึงปีละ 1 แสนล้านบาท หากเปลี่ยนแปลงงบดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบประกันภัยที่เกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านการเงินของตัวเองได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

“แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว แต่สำหรับประเทศไทยการส่งออกสินค้าเกษตรกลับเติบโตสวนทางสินค้าอื่น การปรับตัวของเกษตรกรและผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งในประเด็นการพัฒนากระบวนการผลิตและวิธีการทำการตลาด โดยคำนึงถึงมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย และใช้ประโยชน์จาก FTA นำไปสู่การเพิ่มราย ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการให้การสนับสนุนอยู่” นางสาวรัชดาฯ กล่าว