ไหมอีรี่ แมลงโปรตีนสูงดันรายได้ไร่มันสำปะหลังเพิ่ม
เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผ้าไหมของไทย กรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมการเลี้ยงไหมด้วยใบมันสำปะหลัง จนประสบผลสำเร็จได้ ค้นพบไหมมันสำปะหลังรังเหลือง เป็นครั้งแรกในไทยที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเตรียมพัฒนาเพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรเลี้ยงสร้างเป็นรายได้หลัก ภายปีนี้
ปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่าเพื่อผลักดันให้การเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร โดยอบรมให้ความรู้และผลิตไข่ไหมอีรี่แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในหลายจังหวัด ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สระแก้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง
อย่างไรก็ตามในสระแก้ว ได้พบไหมพันธุ์ใหม่ เรียกว่า "ไหมมันสำปะหลังสระแก้ว (CASA SILK)" ที่มีลักษณะ รังมีสีเหลืองค่อนข้างเข้ม แตกต่างจากไหมกินใบสำปะหลังทั่วไปที่มีสีขาวขุ่น โดยไหมมันสระแก้วนี้ มีขนาดใหญ่ ยาวเรียว เส้นใยจะสานกันหลวมปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งมีรูเปิดเล็ก ๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรัง ผู้เลี้ยงสามารถดึงเส้นใยจากรังด้วยวิธีปั่น (Spun) แบบเดียวกับการปั่นฝ้าย ไม่ได้ใช้วิธีสาวแบบไหมกินใบหม่อน ดังนั้นจึงไม่ต้องต้มรังตอนที่ยังมีดักแด้ไหมอยู่ในรัง เพียงแค่ตัดเปลือกรัง หรือรอให้ผีเสื้อออกมาก่อน ก็สามารถนำรังไปต้มเพื่อละลายสารเหนียวที่เคลือบเส้นไหมออกแล้วนำไปปั่นได้เลย สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาลได้
และด้วยไหมมันสำปะหลังสระแก้วมีสีรังสีเหลืองเข้มที่แตกต่างจากรังไหมที่กินใบมันสำปะหลังปกติทั่วไปที่มีสีขาวขุ่น และมีขนาดใหญ่กว่าไหมที่เลี้ยงด้วยใบหม่อน แต่มีโปรตีนใกล้เคียงกัน จึงอาจมีความแตกต่างของสารสำคัญ อาทิ กรดอะมิโน ลูทีน เป็นต้น ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเวชสำอางได้ อีกทั้งในปัจจุบันกระแสความนิยมโปรตีนจากแมลงกำลังได้รับความนิยม จึงนำมาผลิตเป็นโปรตีนจากแมลง ตามแนวเกษตรสีเขียว (Green Agriculture) หรือเกษตรยั่งยืนที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพ
สำหรับการเลี้ยงไหมมันสำปะหลังสระแก้วนั้น เกษตรกรสามารถเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เลี้ยงง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศร้อน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว สามารถเก็บใบมันสำปะหลังมาเลี้ยงไหมมันสระแก้วเป็นอาชีพเสริมได้ ซึ่งการเก็บใบมันสำปะหลังนั้น หากเก็บไม่เกิน 30 %ของต้น ยังคงสามารถเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังได้
ไหมมันสระแก้วมีวงจรชีวิต 45-60 วัน เลี้ยงได้ 4 - 5 รุ่นต่อปี เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายรังและดักแด้ ประมาณ 6,000 บาทต่อรุ่น นอกเหนือจากการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันมีตลาดซึ่งมีความต้องการรับซื้อรังไหม จำนวน 30 ตัน/เดือน แต่เกษตรกรผลิตได้ 10 ตัน/ปี จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักมากขึ้น
สำหรับ ไหมอีรี่เป็นแมลงที่มีโปรตีนสูงถึง 50 - 55% ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญต่อร่างกายทั้ง 18 ชนิด และมีกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ทั้งนี้ จากการวิจัยของกรมหม่อนไหมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดโปรตีนจากไหมอีรี่ในหนูแรท พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดโปรตีนจากไหมอีรี่ขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ถึงความเป็นพิษ
แสดงให้เห็นว่าโปรตีนสกัดจากไหมอีรี่เป็นแหล่งโปรตีนที่ปลอดภัย มีประโยชน์และไม่แพง เหมาะแก่การเป็นโปรตีนทางเลือกในอนาคต งานวิจัยของกรมหม่อนไหมยังพบว่าสามารถนำดักแด้ไหมอีรี่มาทดแทนถั่วเหลืองเลี้ยงไก่เนื้อ ทำให้ได้ไก่เนื้อที่มีคุณภาพ และยังนำไหมอีรี่ไปเป็นส่วนประกอบของอาหารปลาสวยงาม พบว่าช่วยเสริมรงควัตถุแคโรทีนอยด์ เพื่อเพิ่มสีผิว และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาสวยงามได้
ที่ผ่านมาเกษตรกรจะนำผลผลิตจากไหมอีรี่ ไปจำหน่ายและแปรรูปในตลาดชุมชนเป็นหลัก โดยไหม 1 ซอง ใช้ใบมันสำปะหลังในการเลี้ยงประมาณ 1 ไร่ ได้ผลผลิตรังไหมสด 30 กิโลกรัม เกษตรกรจะปาดรังไหมเพื่อนำดักแด้ออกจากรัง ได้น้ำหนักรังไหม 3 กิโลกรัม จำหน่าย ราคากิโลกรัมละ 350 - 400 บาท ได้น้ำหนักดักแด้ 27 กิโลกรัม จำหน่ายเป็นอาหาร กิโลกรัมละ 100 - 180 บาท หรือนำรังไหมไปสาวเป็นเส้นไหมฟอก ย้อมและทอ จำหน่ายเป็นผืน เมตรละ 600 - 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของผ้าไหม
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากไหมอีรี่และโปรตีนจากแมลง เพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยบริษัทจะรับซื้อรังไหมอีรี่สดที่ไม่ได้ปาดรัง ราคากิโลกรัมละ 100 – 115 บาท ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานในการปาดรังไหม และได้รับเงินเร็วขึ้น เพราะใช้เวลาเลี้ยงไหมเพียง 19 - 22 วัน ก็สามารถจำหน่ายรังไหมสดได้ หากเกษตรกรเลี้ยงไหมรอบละ 2 ซอง ก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อเดือน
“ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการผลผลิต จำนวน 25 - 30 ตัน/เดือน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่สามารถจำหน่ายผลผลิตให้กับบริษัทได้ จำนวน 8 - 12 ตัน/เดือนเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่สามารถเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากการจำหน่ายหัวมันสำปะหลังอย่างเดียว “