PROEN ธุรกิจ 'ดาวรุ่ง' ใน 'ยุคโควิด'
วิกฤติโควิด-19 ตัวเร่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขึ้นแท่น 'ดาวรุ่ง' สร้างการเติบโตก้าวกระโดด 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'โปรเอ็น คอร์ป' ซื้อขาย 29 เม.ย.นี้ ราคา 3.25 บาท 'กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม' เจ้าของตัวจริง โชว์พันธกิจรุกธุรกิจไอซีทีผลักดันรายได้โต 20%
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) มาตรการต่างๆ ที่ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 'ลดลง' ถูกภาครัฐหยิบยกออกมาใช้ และข้อความร่วมมือทั้งหน่วยงานรัฐ-บริษัทเอกชน 'มาตรการปิดเมือง' (Lock down) ให้ปรับรูปแบบการทำงาน Work From Home หรือ เลวร้ายสุดเคอร์ฟิว !
แต่ในวิกฤติมีหนึ่งธุรกิจที่มีโอกาสสร้างการเติบโต... ในสถานการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ! นั่นคือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสาร สอดรับกับตลาดอีคอมเมิร์ซ (ออนไลน์) ที่วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ตลาดมีอัตราการเติบโตแบบมีนัยสำคัญ หลังเจ้าของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดดังกล่าว
ปัจจัยบวกดังกล่าว กำลังส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บมจ. โปรเอ็น คอร์ป หรือ PROEN ที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 86 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 3.25 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 30 เท่า (Pre diluted) และเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 29 เม.ย.นี้
ณ ปัจจุบัน PROEN แบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Information Communication and Technology : ICT) และให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านศูนย์ข้อมูล Data Center และบริการอินเทอร์เน็ต ISP และบริการคลาวด์ (Cloud Service) โดยให้บริการศูนย์ข้อมูลและอินเทอร์เน็ตพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก คิดเป็นสัดส่วน 60%
และ 2.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับงานโทรคมนาคมงานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Telecommunication and Infrastructure Service) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัทซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2560 โดยบริษัท และ TELEBIZ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ให้บริการงานก่อสร้างงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Solution) คิดเป็นสัดส่วน 40%
'กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็นคอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า การเข้าระดมทุนครานี้ ! ถือเป็นการ 'ปลดล็อก' การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนจะนำไปขยายอาคารศูนย์ข้อมูลและสำนักงานแห่งใหม่ มูลค่า 150 ล้านบาท โดยพื้นที่อาคารรวม 7,452 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์ข้อมูล ประมาณ 3,000 ตารางเมตร สามารถรองรับตู้ Server ได้ประมาณ 1,000 ตู้ จากปัจจุบันมีตู้ให้บริการประมาณ 645 ตู้ โดยการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะเป็นการทยอยลงทุน และเสร็จปี 2565 และที่เหลือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจการให้บริการ ICT และงานรับเหมาก่อสร้าง
กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม
ทั้งนี้ หลังเงินระดมทุนช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง และยังเพิ่มศักยภาพความสามารถในการรับงานโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้ง ยกระดับชื่อเสียงของบริษัทให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและยอมรับในระดับประเทศ เพิ่มโอกาสการเติบโตในอนาคตอีกมาก
บ่งชี้ผ่านโอกาสที่ผู้ประกอบการ OTT หรือ Over the top อย่าง Facebook , YouTube , Microsoft เป็นต้น แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ซึ่งการมาของผู้ประกอบการเหล่านี้แต่ละครั้งจะใช้พื้นที่เก็บข้อมูล 'หลายร้อยตู้' ดังนั้นการลงทุนพื้นที่เก็บข้อมูล 3,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว
โดยในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% ซึ่งเน้นพอร์ต 'รายได้ประจำ' (Recurring Income) ที่สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง สอดรับกับการขยายธุรกิจ ICT พร้อมรุกขยายบริการ Cloud และรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นหลาย 'เท่าตัว' และคาดว่าจะช่วยสนับสนุนอนาคตให้มีการเติบโตได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวเป็นเทรนด์ของโลก
ขณะที่ งานรับเหมาก่อสร้างถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ ในการรับงานเป็นโครงการ โดยปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) จำนวน 334 ล้านบาท โดยรับรู้รายได้ภายในปีนี้ ซึ่งในปีนี้บริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลงานอีก 4 โครงการ เฉลี่ยมูลค่างานแต่ละโครงการอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานรัฐ อย่าง หน่วยงานของการไฟฟ้า
สำหรับ 'จุดเด่น' ในด้านการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านศูนย์ข้อมูล Internet Data Center บริการอินเทอร์เน็ต ISP และบริการคลาวด์ รวมทั้งยังให้บริการงานรับเหมาก่อสร้างงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีบริการแบบครบวงจร ขณะที่มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 16 % จากการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ประสบการณ์การดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี
สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) ของ PROEN มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 23.60 ล้านบาท 16.60 ล้านบาท และ 25.30 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 715.40 ล้านบาท 884.20 ล้านบาท และ 1,005.50 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมทุกกลุ่มกำลังปรับตัวสู่ตลาดออนไลน์ ยิ่งการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว องค์กร หรือบริษัทเอกชน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานมาเป็นระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 100%
โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบ work from home ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์ ที่ต้องมีระบบการสั่งจ่ายชำระเงิน ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่มาจาก Data Center และระบบ Cloud ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ของบริษัท ซึ่งน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากประเด็นดังกล่าวและผลักดันให้ผลประกอบการในอนาคตสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่น
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่ารายได้เติบโตตามเป้าหมาย พร้อมทั้งพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16% ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ก่อสร้างอาคารศูนย์ IDC และสำนักงานแห่งใหม่ 50% เงินทุนหมุนเวียน 20% ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง จากปัจจุบันอัตราส่วน D/E อยู่ที่ 3.4 เท่า หลังชำระคืนเงินกู้จะลดลงเหลือต่ำกว่า 1 เท่า
สุดท้าย 'กิตติพันธ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ของโลกในตอนนี้ และมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในธุรกิจ E-Commerce และ Game ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มในอนาคตที่สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากในปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมได้ปรับตัวมาสู่ด้านไอซีทีและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ PROEN ขยายตัวได้อย่างโดดเด่น