การรถไฟฯ เข็นประมูลทางคู่ 4 โครงการ หนุนขนส่งเชื่อมอีอีซี - การค้าชายแดน
ร.ฟ.ท.ดันประมูลส่วนต่อขยายรถไฟทางคู่ 4 โครงการ เม็ดเงินรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท เป้าหมายหนุนเส้นทางเชื่อมต่ออีอีซี เขตเศรษฐกิจชายแดน ขณะที่โครงการสายใหม่เปิดชิง พ.ค.นี้
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ ร.ฟ.ท.ผลักดันการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะเป็นส่วนต่อขยายจากสายทางเดิมในปัจจุบัน เป้าหมายเพื่อทำให้การเดินทางภายในประเทศไม่เป็นปัญหาคอขวด ไม่ติดขัด หรือล่าช้า อีกทั้งจะเป็นโครงข่ายขนส่งที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเชื่อมต่อโหมดการขนส่งประเภทอื่น เช่น การขนส่งไปยังพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เชื่อมต่อการขนส่งทางเรือ และอากาศ
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ผลักดันเร่งด่วน มี 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย
1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 25,842 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้จะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อการขนส่งจากจีน ลาว และไทยในพื้นที่อีอีซี ปัจจุบันโครงการนี้ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งแต่ 20 ก.ค.2563
2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านการเห็นชอบอีไอเอมาแล้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค.2561 จึงเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนต่อไปทันที
3.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม.วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอีไอเอ โดยกระทรวงฯ เล็งเห็นความสำคัญของการผลักดันเส้นทางนี้ เนื่องจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการทางคู่สายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นโครงข่ายทางคู่ที่สมบูรณ์
4.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม.วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการผ่านมาพิจารณาอีไอเอมาแล้ว ตั้งแต่ 1 ส.ค.2561 สามารถนำมาเปิดประมูลและก่อสร้างได้ โดยกระทรวงฯ เล็งเห็นว่าโครงการนี้ หาก ร.ฟ.ท.ผลักดันแล้วเสร็จ จะกลายเป็นสายทางสำคัญที่สนับสนุนการเดินทาง ขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวระหว่างไทย – มาเลเซีย
“นโยบายรถไฟทางคู่ตอนนี้กระทรวงฯ เร่งรัดมา 4 โครงการที่มีความพร้อม และมองว่าจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อเส้นทางแบบไร้คอขวด ซึ่งทุกโครงการอยู่ในขั้นตอนรออนุมัติโครงการ เพื่อเปิดประกวดราคา โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตอบข้อซักถามสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หากแล้วเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนเสนอสำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรี (ครม.)”
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ประกาศขายแบบก่อสร้างครบทั้ง 2 โครงการ คือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ค่าก่อสร้างงานโยธา 7.29 หมื่นล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ค่าก่อสร้างงานโยธา 5.46 หมื่นล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.มีกำหนดเปิดให้ยื่นเอกชนข้อเสนอ 18 และ 25 พ.ค.นี้ คาดว่าจะลงนามได้ในเดือน 2 ส.ค.2564