บิ๊กอสังหาฯรื้อ ‘ฟังก์ชั่น-ดีไซน์’ เจาะกลุ่มเฉพาะ-เวิร์คฟรอมโฮม
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น และทำงานที่บ้าน สร้างจุดเปลี่ยนในวงการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์สอดรับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป! ทั้งในแง่การออกแบบพัฒนาสินค้าและบริการ บรรดาดีเวลอปเปอร์ต่างพลิก “ฟังก์ชั่น-ดีไซน์”
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น และทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์คฟรอมโฮม (Work From Home) เป็นอีกวิถีนิวนอร์มอลที่สร้างจุดเปลี่ยนในวงการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์สอดรับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป! ทั้งในแง่การออกแบบพัฒนาสินค้าและบริการ บรรดาดีเวลอปเปอร์ต่างพลิก “ฟังก์ชั่น-ดีไซน์” สร้างจุดขายใหม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทำงานได้ทุกที่
“เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดนิวนอร์มอลหลากหลายหนึ่งในนิวนอร์มอลที่จะคงอยู่ต่อไปคือ พฤติกรรมการทำงานที่บ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่จะประยุกต์ หรือปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานจากนี้ ในแง่ของลูกจ้างสามารถลดค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทาง ขณะที่นายจ้างสามารถประหยัดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ซึ่งจะกลายเป็นความปกติในอนาคต!
ผู้ประกอบการอสังหาฯ นอกจากต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้ตอบรับกลุ่มลูกค้า สถานการณ์ ตอบโจทย์คนกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ยังต้องปรับเพื่อให้สอดรับเทรนด์ในแต่ละสถานการณ์มากที่สุด ยกตัวอย่าง ผู้ซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่เป็น “เจนวาย” มากกว่า “เจนเอ็กซ์” จึงเน้นดีไซน์เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน สามารถทำงานได้ ปรับฟังก์ชั่นให้เก็บของได้มากขึ้นแม้ว่าลูกค้าจะซื้อคอนโดอยู่ใกล้ที่ทำงาน แต่ก็ต้องทำให้คอนโดนั้นทำงานได้ทุกที่ หรือ Work from Anywhere
จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพัฒนาโครงการคอนโดใหม่ภายใต้คอนเซปต์ ทำงานได้ทุกที่ (Work from Anywhere in Condo) ซึ่งแตกต่างจาก “โคเวิร์คกิ้งสเปซ” ที่ผู้คนอาจรู้สึกเบื่อบรรยากาศเดิมๆ ปัจจุบันกลุ่มซื้อคอนโดส่วนใหญ่เป็นเจนวายมากกว่าเจนเอ็กซ์
“ลูกบ้านสามารถทำงานริมสระว่ายน้ำได้ นั่นหมายความว่าเราต้องเตรียม ที่นั่ง ปลั๊ก ไวไฟไว้รองรับ ไลฟ์สไต์แบบนี้จะเกิดมากขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลายไป เชื่อว่าจะมีคนที่ยังทำงานที่บ้านกันต่อไป หรืออาจต้องทำงานที่บ้านเป็นระยะเมื่อเกิดการระบาดโควิดรุนแรง สอดรับไปกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น สามารถบาลานซ์ชีวิตดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาอสังหาฯ ต้องเจาะพฤติกรรมนิวนอร์มอลในเชิงลึก ขณะที่ทาวน์เฮ้าส์และบ้าน จะให้ความสำคัญกับการติดโซลาร์ รูฟท็อปเพิ่มมูลค่ามากขึ้น”
ทางด้าน “อภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ ”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจกลุ่มสมาร์ทคอนโดมิเนียมในเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของผู้บริโภคทั้งในยุค “นาว นอร์มอล” และ “เน็กซ์ นอร์มอล” จากโรคโควิด-19 ทำให้มองเห็นโอกาสการเติบโตในน่านน้ำใหม่!
โดยปีนี้ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียมในเครือออริจิ้น จะเติบโตแบบ “เน็กซ์ เลเวล” ด้วยการพัฒนา 9 โครงการ มูลค่ารวม 9,600 ล้านบาท เกาะแนวรถไฟฟ้าและพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี ซึ่งจะมี “4 แบรนด์ใหม่” เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่ 1.ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ เจาะตลาดกลุ่มเจนวาย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในตลาดคอนโด และเจน ซี โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำสตาร์ทอัพ ซึ่งจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้ 2.บริกซ์ตัน แบรนด์ราคาเข้าถึงง่าย สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Affordable) คอนเซปต์แต่ละโครงการจะเจาะลูกค้าแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มนักศึกษา หรือคนทำงานใกล้มหาวิทยาลัย และกลุ่มคนรักสัตว์ 3.แฮมป์ตัน แบรนด์คอนโดเจาะตลาดนักลงทุนโดยเฉพาะ มีสิทธิพิเศษและการันตีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อ นำร่องในศรีราชาและระยอง และ 4.ออริจินอล คอนโดสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ
ก่อนหน้านี้เจ้าพ่อคอนโดต่ำล้านอย่าง “โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาแบรนด์แอล.พี.เอ็น.จะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า (values for money) ซื้อคอนโดแอล.พี.เอ็น.แล้วได้สินค้าที่ดี มีคุณภาพ มีบริการที่ดี ในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็นคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ และ เจนเอ็กซ์ อาจจะมองในเรื่องของความคุ้มค่าเป็นหลัก แต่เมื่อกลุ่มลูกค้าหลักเปลี่ยนเป็นเจนวายจำเป็นที่จะต้องเติมในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ( emotional benefit)เข้าไปในสินค้านั้นด้วย
“สิ่งที่แอล.พี.เอ็น.จะทำต่อไป คือการเพิ่มเติมในเรื่องของคุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปร่างหน้าตา ที่ในยุคก่อนคอนโดแอล.พี.เอ็น. ไปอยู่ที่ไหนก็หน้าตาเหมือนกันไปหมด ทำยูนิตจำนวนเยอะๆ ดูแล้วแน่นๆ อยู่แล้วมีความรู้สึกว่าคุยไม่ค่อยได้ จะไปเช็คอิน จะไปเซลฟี่โชว์ก็ไม่ค่อยได้ เพราะเราเน้นในเรื่องของต้นทุน การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) เพื่อให้ได้ต้นทุนถูกที่สุด"
โอภาส กล่าวว่า ต่อจากนี้ไป แอล.พี.เอ็น.จะพัฒนาโครงการให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละทำเลมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกับวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่หลังจากโควิด นอกจากในเรื่องของความคุ้มค่าเพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของและตอบสนองการใช้ชีวิต