'เด็กจบใหม่' และ 'First Jobber' เพิ่งเริ่มทำงาน เลือกทำ 'ประกัน' แบบไหนดี?

'เด็กจบใหม่' และ 'First Jobber' เพิ่งเริ่มทำงาน เลือกทำ 'ประกัน' แบบไหนดี?

เปิดเทคนิคการเลือกซื้อ "ประกัน" สำหรับ "เด็กจบใหม่" "First Jobber" หรือคนที่เพิ่ง "เริ่มทำงาน" ให้เหมาะกับวัย และโอกาส ที่เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเงินที่ดีได้ในอนาคต

"ประกัน" เป็นหนึ่งในการวางแผนการเงินที่อาจไม่ได้ทำให้รวยขึ้น แต่จะไม่ทำให้จนลง เพราะการทำประกันคือการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ให้กับความเสี่ยงในมิติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา และส่งผลกระทบกับการเงินของเราได้

สำหรับ เด็กจบใหม่ "First Jobber" หรือคนที่เพิ่ง "เริ่มทำงาน" หลายคนอาจมองว่าการ "ทำประกัน" ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิตเพราะในวัยที่อายุน้อย สุขภาพยังแข็งแรงดี ความเสี่ยงต่ำ หรือมีเงินไม่มากพอที่จะทำประกันในแต่ละเดือน 

แต่เมื่อมีโรคระบาด "โควิด-19" ทำให้มุมมองเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และตระหนักว่า "โรคไม่เลือกอายุ" ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด โรคร้าย หรือแม้แต่อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและเงินในกระเป๋าของคนเราได้เสมอ

   

161960695277

เพราพรรณ วัชรกาฬ

ปณิดคิดเงิน ชวนคุยกับ "เพราพรรณ วัชรกาฬ" CFP และนักวางแผนการเงินบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต หนึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงประกันและการวางแผนการเงินส่วนบุคคล มาช่วยให้เทคนิคการเลือกประกันสำหรับกลุ่ม First Jobber ที่คุ้มค่า และเหมาะสม เพื่อให้การทำประกันได้สิทธิประโยชน์สูงสุด 

   

  • เลือก "ประกัน" แบบไหน เหมาะกับ First Jobber 

เพราพรรณ แนะนำประกัน 2 รูปแบบที่เหมาะกับคนเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ ที่อาจมีรายได้ต่อเดือนยังไม่สูงมาก ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และมีอายุยังไม่มาก โดยมองว่าตัวที่เหมาะสมมากที่สุดตามเงื่อนไขนี้มีประกัน 2 แบบ ได้แก่

    

 1. ประกันชีวิต แบบตลอดชีพ (Whole Life) 

จุดเด่นของการทำประกันชีวิตประเภทนี้ คือได้ ทุนประกันที่สูง เบี้ยประกันต่ำ และสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี 

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นการทำประกันชีวิตที่จะต้องจ่ายเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ ตามที่เงื่อนไขกรมธรรม์กำหนด เช่น กรมธรรม์มีกำหนดจ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่อง 20 ปี ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตถึงอายุ 90/99 ปีและจะคืนเงินประกันเมื่ออายุครบกำหนด (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์)

สมมติในกรณีที่จ่ายเบี้ยครบแล้ว เกษียณอายุ 60 ปี และไม่มีภาระที่ต้องการให้ประกันจ่ายเงินให้กับผู้รับประกันกรณีที่เสียชีวิตแล้ว ก็สามารถขอนำเงินประกันออกมาเป็นก้อนได้ โดยไม่ได้รับความคุ้มครองชีวิตต่อถึงครบ 90/99 ปี

สาเหตุที่เหมาะกับคนเพิ่มเริ่มทำงาน

  • เบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ 
  • เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน คนข้างหลังไม่เดือดร้อน
  • ได้ทุนประกันสูง 
  • คุ้มครองระยะยาว
  • ลดหย่อนภาษีได้

 2. ประกันสุขภาพ 

"โรคไม่เลือกอายุ" เพราพรรณ มองว่า ณ เวลานี้ ประกันสุขภาพไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุอีกต่อไป เมื่อโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาก หรือแม้แต่โรคร้ายที่มีโอกาสกัดกินสุขภาพของคนทุกวัยได้

ประกอบกับอัตราค่ารักษาพยาบาลของไทยโตเฉลี่ย 7-8% สูงกว่าคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในระยะยาวที่ 3% เสียอีก 

ความน่ากลัวของโรคต่างๆ และค่ารักษาพยายาลไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เมื่อสถานการณ์คับขัน การทำ "ประกันสุขภาพ" จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพและปัญหาทางการเงินที่อาจตามมาได้

"หลายคนมองว่าประกันสุขภาพคือการจ่ายทิ้ง แต่ถ้าเราจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพทุกปี ปีละ 10,000 บาทเรารู้ว่าเราต้องจ่ายเงินเท่าไร แต่ถ้าเราเกิดป่วยขึ้นมาแล้วไม่มีประกันไว้รับความเสี่ยงเลย อาจจะต้องจ่าย 5 หมื่น 5 แสน 1 ล้าน หรือบานปลายจนไม่รู้เลยว่าต้องจ่ายอีกเท่าไร ซึ่งจะกระทบการเงินอย่างแน่นอน" เพราพรรณ กล่าว  

สาเหตุที่เหมาะกับคนเพิ่มเริ่มทำงาน

  • คุ้มครองความเสี่ยงสุขภาพในระยะยาว
  • คนอายุน้อยมีโอกาสป่วยหนักได้ 
  • ช่วงอายุน้อย เบี้ยประกันต่ำกว่า
  • ลดหย่อนภาษีได้

    

162062215596

  •  เลือกประกันแบบไหน ไม่เหมาะกับ First Jobber 

อีกหนึ่งประกันยอดฮิตที่คนเพิ่งเริ่มทำงานมักจะเลือกเป็นประกันเล่มแรก คือ "ประกันสะสมทรัพย์" หรือที่หลายคนเรียกว่า "ประกันเงินออม" ซึ่งเป็นประกันชีวิตที่มีลักษณะการจ่ายเบี้ยสั้น ได้เงินก้อนเมื่อครบกำหนด และมีความคุ้มครองชีวิตด้วย

เช่น กรมธรรม์ประกันเงินออม หรือประกันสะสมทรัพย์ 7/17 ให้จ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่อง 7 ปี แล้วมีความคุ้มครองถึง 17 ปี และจะได้เงินก้อนออกมาเมื่อครบกำหนด 17 ปี โดยจะได้รับเงินต้นพร้อมผลตอบแทนที่แน่นอน ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 1-2% ต่อปี บางกรมธรรม์มีเงินปันผลให้ระหว่างที่ยังจ่ายเบี้ยด้วย

ประกันสะสมทรัพย์จึงเหมาะกับการเป็นประกันเสริมเล่มต่อๆ ไป ไม่ใช่เล่มแรก หรือเหมาะกับคนใกล้เกษียณอายุที่ต้องการเก็บเงินในระยะสั้นๆ มากกว่า 

ลักษณะสำคัญของ ประกันสะสมทรัพย์ จุดเด่นคือได้เงินคืน ไม่สูญเปล่าไปเมื่อไม่เสียชีวิต แต่จุดด้อยคือเรื่องทุนประกัน และความคุ้มครองย่อมต่ำกว่าความคุ้มครองของประกันชีวิตแบบปกติ เมื่อเทียบเบี้ยประกันในระดับเท่ากัน

ซึ่งเพราพรรณ ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ประกันสะสมทรัพย์ไม่เหมาะกับวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะด้วยเม็ดเงินเท่ากัน สามารถทำประกันที่ได้สิทธิประโยชน์มากกว่า ดังนั้น ประกันสะสมทรัพย์จึงเหมาะกับการเป็นประกันเสริมเล่มต่อๆ ไป ไม่ใช่เล่มแรก หรือเหมาะกับคนใกล้เกษียณอายุที่ต้องการเก็บเงินในระยะสั้นๆ มากกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนเลือกทำประกันออมทรัพย์เพียงเพราะมองว่าเป็นตัวช่วยในการเก็บเงิน สร้างความมั่งคั่ง แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์หลักของการทำประกัน เพราะประกันไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการจัดสรรรายได้มารองรับความเสี่ยง

ดังนั้นการเลือกทำประกันสักเล่ม จึงควรเลือกจากความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน งบประมาณที่เหมาะสม และไม่ลืมทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของประกันแต่ละประเภทก่อนตัดสินใจทำ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดอย่างที่ควรจะได้รับด้วย

     

ที่มา :  รายการปณิดคิดเงิน ซีซัน 2 EP.23