รู้บริหารกระแสเงินสดในยุค New Normal
นอกจากจะต้องปรับแผนธุรกิจ ปรับองค์กรให้เป็นดิจิทัลเพื่อการอยู่รอดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ SMEs ควรให้ความสำคัญอย่างมาก คือการบริหารจัดการกระแสเงินสด
การกลับมาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) นอกจากจะต้องปรับแผนธุรกิจ ปรับองค์กรให้เป็นดิจิทัลเพื่อการอยู่รอดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ SMEs ควรให้ความสำคัญอย่างมาก คือการบริหารจัดการกระแสเงินสด เพราะเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 กระทบต่อเนื่องสู่หลายภาคส่วน ส่งผลต่อภาคการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้ SMEs เจอปัญหาการบริหารกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ โดยจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าร้อยละ 33 ของSMEทั้งหมดประสบปัญหาขาดทุน และร้อยละ 20 ของSMEที่ประสบภาวะขาดทุนนั้นได้ปิดกิจการลง ชัดเจนว่าวิกฤตโควิด ทำให้SMEs เห็นความสำคัญของกระแสเงินสดมากขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจ “ASEAN SME Transformation Study 2020” โดยธนาคารยูโอบี ร่วมกับแอคเซนเจอร์ และดันแอนด์แบรดสตรีท ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอีในอาเซียนกว่า 1,000 ราย ที่ชี้ว่าความกังวลอันดับแรกของSMEs ในช่วงวิกฤตโควิดนี้คือการรักษากระแสเงินสด เพราะ 9 ใน 10 ต้องการเงินทุนจากธนาคารมากขึ้น เพื่อนำเงินทุนส่วนนี้ไปเพิ่มเงินทุนหมุนวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ (ร้อยละ 64) และเพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังประสบปัญหาลูกค้าชำระเงินล่าช้า (ร้อยละ 52)
เมื่อกระแสเงินสด กลายเป็นโฟกัส ทำให้ SMEs ทั่วทั้งอาเซียน ต่างมองหาวิธีในการบริหารกระแสเงินสด เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง โดยร้อยละ 81 เลือกลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ
ร้อยละ 75 จะติดต่อธนาคารเพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และต่อรองเงื่อนไขการชำระเงินหรือสัญญา และ ร้อยละ 73 ต้องการเพิ่มทุนผ่านโปรแกรมความช่วยเหลือด้านการเงินในช่วงโควิด
นอกจากที่กล่าวมาคุณสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเอสเอ็มอีในการบริหารกระแสเงินสดในช่วงเวลานี้
ให้เทคโนโลยีช่วยบริหาร cash flow และค่าใช้จ่าย
SMEs ตระหนักแล้วว่าดิจิทัลโซลูชัน จะป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในระยะยาว หากดู SMEs ไทยกว่าร้อยละ 71 ต้องการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก แม้รายได้จากธุรกิจจะลดลงก็ตาม โดยโซลูชันที่นำมาใช้ต้องตอบโจทย์ธุรกิจ ช่วยปรับโมเดล เปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหลังบ้าน จนถึงเพิ่มยอดขายและทำการตลาด รวมไปถึงโซลูชันที่ช่วยบริหารจัดการเงินสด
จากสาเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อปัญหาด้านกระแสเงินสด คือการชำระเงินล่าช้า ซึ่งอาจจะมาจากความล่าช้าในการจ่ายเงินของลูกค้า หรือขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้ ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราอาจจะไม่สามารถควบคุมฝั่งลูกค้าได้ แต่ที่เราจัดการได้แน่นอนคือการบริหารขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้จากฝั่งเราเอง ซึ่งอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในเทคโนโลยีและโซลูชันทางธุรกิจที่จะมาช่วยจัดงานระบบหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บัญชีเงินเดือน การทำบัญชี การบริหารสินค้าคงคลังและอื่นๆ โดยยูโอบี บิสสมาร์ท (UOB Biz Smart) เป็นหนึ่งในโซลูชันที่รวมการทำงานทุกส่วนของธุรกิจ เช่น ระบบจัดการข้อมูลพนักงานและจ่ายเงินเดือนอัตโนมัติ การทำบัญชี การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) และสินค้าคงเหลือ(Inventory) นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อบัญชีธนาคารยูโอบีโดยตรง เรียกดูยอดธุรกรรมต่างๆ อาทิ ยอดการชำระเงินจากซัพพลายเออร์ และยอดขายรายวัน ซึ่งสามารถช่วยผู้ประกอบการในจุดนี้ได้
บริหารงบดุล เพื่อลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียน
เน้นที่งบดุลแทนรายได้ ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบของเงินทุนหมุนเวียน ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ แทนที่จะสนใจองค์ประกอบเดียว เพื่อลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ อาจจะพิจารณาขายหรือให้เช่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้า เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จะทำให้มีเงินอัดฉีดเข้ามาในทันที
ทบทวนแผนการลงทุน
จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและการประเมินกระแสเงินสดที่มีในขณะนี้ SMEs ควรจะพิจารณาความจำเป็นของการลงทุนต่างๆ อันไหนจำเป็นต้องลงทุนในระยะเวลาอันใกล้หรือจำเป็นต้องลงทุนตอนนี้เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงควรพิจารณาว่าการลงทุนใดที่สามารถเลื่อนออกไปได้ก่อนและรอจังหวะที่จะทำเมื่อสถานการณ์ต่างๆและเศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น
มองหาการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร
ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินต่างออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เราขอแนะนำให้เอสเอ็มอีติดต่อธนาคาร เพื่อขอคำปรึกษาด้านเงินทุนที่เหมาะกับธุรกิจ ซึ่งแต่ละรายอาจมีความต่างกันไปตามความต้องการและประเภทของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขอพักชำระหนี้ ปรับเงื่อนไขการชำระเงิน รวมถึงอาจได้รับเงินทุนจากโครงการอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำคัญคืออย่ากลัวที่จะติดต่อธนาคารเพื่อพูดคุย ขอคำปรึกษา จนปล่อยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้
นับตั้งแต่เกิดวิกฤต ยูโอบีได้ทำการติดต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อพูดคุย เสนอความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาและติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจของลูกค้าต้องไม่สะดุด นอกจากเรื่องเงินทุน ยูโอบียังช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องการปรับใช้ดิจิทัลโซลูชันเพื่อช่วยลูกค้าจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่านอกเหนือจากเรื่องเงินทุน ธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียนมองธนาคารเป็น ecosystem partner ที่จะช่วยธุรกิจให้ผ่านวิกฤตโควิดและค้นหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ทางธุรกิจได้