COVID-19 ระลอกสาม นัยยะต่อ 'ตลาดบอนด์ไทย'

COVID-19 ระลอกสาม นัยยะต่อ 'ตลาดบอนด์ไทย'

เปิดบทวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ระลอกสาม ที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทย (Bond yield) อย่างไรบ้าง?

อย่างที่ทราบโดยทั่วกัน ประเทศไทยได้เผชิญกับการแพร่ระบาด COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นการระบาดระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นไนไทย โดยสถานการณ์การระบาดในระลอกนี้ดูค่อนข้างรุนแรงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์หรือที่อาจจะเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งจะเห็นจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่พุ่งขึ้นค่อนข้างเร็วเกินกว่าพันคนต่อวันในช่วงหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นมองว่าผลกระทบที่มีต่อตลาดตราสารหนี้ไทยจะน้อยกว่าการระบาดในระลอกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นนักลงทุนต่างก็ตระหนกกับการแพร่ระบาดทำให้เกิดการขายสินทรัพย์ทุกประเภทเพื่อถือครองเงินสด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ หรือ Bond yield ทั่วโลกปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดย Bond yield ของไทยปรับเพิ่มขึ้นถึง 100bps. ภายในสัปดาห์เดียว และหุ้นกู้ก็ได้รับผลกระทบจาก Credit Spread ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องเป็นหลัก ซึ่งนับว่าวิกฤติโรคระบาดลามไปสู่วิกฤติการเงินก็ว่าได้

ด้านการลงทุนก่อนการระบาด COVID-19 ระลอก 3 นี้ จะเห็นได้ว่า ตลาดโดยรวมกำลังจะฟื้นตัวด้วยธีม Re-open หรือการเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งทำให้ risky asset ค่อนข้างปรับตัวดี ขณะที่ Bond yield ก็ปรับขึ้น ขานรับการคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น

แต่พอเกิดการระบาดในระลอก 3 นี้ ความกังวลต่อการ Lock down ที่จะส่งผลให้เชิงลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้เราเห็นภาพรวมการลงทุนฝั่งตลาดทุนชะลอตัวลง ขณะที่ Bond yield ค่อนข้างทรงตัวและปรับตัวลงบ้าง เนื่องจากภายหลังการระบาดในรอบแรก นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังคงลงทุนด้วยความระมัดระวัง และมีการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ไว้อยู่แล้ว จากความล่าช้าในการเข้าถึงวัคซีน ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีสถานะซื้อสุทธิในตราสารหนี้ไทยในปีนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติได้ลดการถือครองตราสารหนี้ไทยไปบ้างแล้วในปีก่อนหน้า

อีกปัจจัยที่สนับสนุน คือ การจัดการของภาครัฐที่มีการใช้มาตรการ lock down แบบเฉพาะจุดแทนการปิดประเทศเหมือนกันในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.COVID-19 ที่ยังมีวงเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบระยะสั้นผ่านโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ อาทิ เราชนะ, ม.33, เรารักกัน และคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย

โดยสรุป การระบาด COVID-19 ระลอก 3 ในไทย อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้มากนักทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับปกติ และนักลงทุนได้มีการปรับตัวตั้งแต่การระบาด COVID-19 รอบแรก ทำให้ความตื่นตกใจตั้งแต่ระลอก 2-3 น้อยลง

อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ นักลงทุนได้จัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเป็นหลัก และได้เตรียมตัวต่อการปรับขึ้นของ Bond yield ทำให้ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยจึงค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตราสารหนี้ระยะยาวยังคงมีอยู่ หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องพยุงเศรษฐกิจผ่านการใช้มาตรการเยียวยาต่าง และต้องก่อหนี้ผ่านการออกพันธบัตรมากขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้ ในส่วนของพันธบัตรระยะสั้นนั้น ความผันผวนยังคงต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ได้แก่

1.การระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งทั้งในไทยและต่างประเทศ

2.การฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่อาจล่าช้ากว่าแผน

3.ภาระหนี้เสียที่อาจสูงขึ้นกว่าคาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพภาคการเงิน

4.ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และ

5.ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจปะทุขึ้นอีก