จับตาอสังหาฯ ฟื้นช้า! จ่อแตะเบรกโครงการใหม่
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ที่ลุกลามเกินคาดหมาย! สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่กำลังเร่งฟื้นตัว เข้าสู่ภาวะ “สะดุด” อีกครั้ง จะยาวนานแค่ไหนขึ้นกับการควบคุมสถานการณ์ได้เร็วช้าอย่างไร แม้จะมีปัจจัยบวก “วัคซีนป้องกัน” อยู่ก็ตาม
อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิดระลอก 3 ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอการฟื้นตัว โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ผู้ประกอบการพยายามกระตุ้นให้เข้ามาซื้อ หรือ โอนกรรมสิทธิ์ทำได้ยากขึ้น เพราะต้องใช้เวลา กว่าจะเดินทางเข้ามา ยกเว้น รัฐบาลจะมีมาตรการพิเศษออกมาสนับสนุน
ขณะนี้อสังหาฯ แนวราบ หรือ บ้านจัดสรร เป็นการชะลอตัวชั่วคราว คาดว่าหลังเหตุการณ์โควิดรอบใหม่นี้คลี่คลาย ลูกค้าจะกลับมาซื้อปกติ เพราะก่อนเกิดโควิดรอบ 3 ตลาดบ้านแนวราบกำลังไปได้ดีมากกว่า 2 ไตรมาสที่ผ่านมา รวมถึงคอนโดที่น่าจะฟื้นตัวจากกำลังซื้อคนไทยในประเทศ สังเกตได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“โควิดรอบ3 ทำให้แนวราบชะลอตัวชั่วคราว เพราะเป็นกลุ่มคนซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ได้ซื้อปล่อยเช่าหรือเก็งกำไรเหมือนคอนโด ขณะที่ตลาดคอนโดยังคงน่าเป็นห่วงเพราะจากการแพร่ระบาดลุกลามเป็นวงกว้างทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นกังวลกับการใช้ชีวิตในคอนโดมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นลิฟท์ ล็อบบี้ ประตู ตู้จดหมาย ฯลฯ ดังนั้นแนวโน้มการฟื้นตัวของอสังหาฯ น่าจะเป็นแบบยูเชฟ (U-Shape)”
การฟื้นตัวขณะนี้ยังเป็น “ยูเชฟ” แต่จุดต่ำสุดจะยาวหรือสั้นยังไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดจะกินเวลายาวนานแค่ไหน รวมทั้ง “ความเชื่อมั่น” ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ผู้คนหวั่นกลัวว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การแพร่ระบาดเป็นเรื่องนอกเหนือความควบคุมในแง่ของผู้ประกอบการต้อง “ไม่ฝืนตลาด” หรือ รีบร้อนเปิดโครงการใหม่! เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการสร้างหนี้ภาระผูกพันระยะยาวและสร้างปัญหาได้
“หากมีการเปิดขายแล้วต้องดำเนินการให้เสร็จตามสัญญา เพราะตามสัญญามาตรฐานกรมที่ดินผูกพันให้ผู้ประกอบการส่งมอบตามกำหนดระยะเวลา จะหยุดสร้าง หรือขายไม่หมดแล้วหยุดสร้างทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าจะเปิดตัวต้องความมั่นใจว่าจะขายได้ ขณะเดียวกันผู้ซื้อควรซื้อตามความจำเป็น ถ้าจำเป็นอย่างไรก็ต้องซื้อ ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มีโควิด แต่ถ้าจะซื้อเพื่อเก็งกำไร ให้เช่าลงทุน ชะลอไปได้ก็ควรชะลอไม่สนับสนุนให้ซื้อเวลานี้”
ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาสสองปีนี้ อาจ “ต่ำ” กว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
"เวลานี้ผู้บริโภคจะออกไปจากบ้านแต่ละครั้งยังต้องคิดแล้วคิดอีก ที่สำคัญคนเริ่มวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อนไม่อยากไปสร้างหนี้ ปัญหาให้กับตนเองในระยะยาว คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”
ทางด้าน ภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า การแพร่ระบาดของ โควิด -19 รอบ 3 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปิดตัวคอนโดโครงการใหม่ “ลดลง” เหลือ 3,000 ยูนิต โดยก่อนหน้านี้ คอลลิเออร์ส ได้คาดการณ์ตลาดคอนโดไตรมาสสองในพื้นที่กรุงเทพฯ ปีนี้ไว้ที่ประมาณ 4,500 ยูนิต
“การแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและอารมณ์ซื้อของลูกค้า ดังนั้นผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ยังไม่ได้ประกาศวันเวลาที่ออกมาชัดเจนในการเปิดตัว จะชะลอหรือเลื่อนโครงการออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย คาดว่า ไตรมาสสามและสี่จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตามการเปิดตัวคอนโดในไตรมาสสองปีนี้ จะไม่ต่ำกว่าช่วงไตรมาสสองปีที่ผ่านมาที่มีการเปิดตัวโครงการ เพียง 1,200ยูนิต ซึ่งตลาดอสังหาฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วจากโควิดรอบแรก โดยเวลานั้นทุกคนต่างตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายในไตรมาสสามปีที่ผ่านมาอัตราการขายปรับตัวดีขึ้น มาสู่ระดับ 43% ใกล้เคียงกับภาวะปกติ ที่อยู่ราว 49-50%
แม้ว่าในไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา จะได้รับกระทบจากการกลับมาระบาดใหม่รอบ 2 แต่ ไตรมาสแรก ปี 2564 อัตราการขายยังสามารถฟื้นตัวได้ดีมาอยู่ที่ระดับ 48% อีกครั้ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงสัญญาณฟื้นตัว จนกระทั่งมาเจอโควิดระลอกใหม่นี้ที่ยังต้องมอนิเตอร์สถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด