'ท่องเที่ยวไทย' สนิมเกิดแต่เนื้อในตน

'ท่องเที่ยวไทย' สนิมเกิดแต่เนื้อในตน

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวกลายเป็นเป็ดง่อย รวมถึงตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของภาค "ท่องเที่ยวไทย" ที่เป็นสนิมกัดกร่อนโครงสร้างรายได้ของภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้ชัดขึ้น

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวกลายเป็นเป็ดง่อย เพราะธุรกิจชะงักงัน ต้องการความช่วยเหลืออย่างหนักจากภาครัฐ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ก่อนที่จะเกิดปัญหาการระบาด ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นภาคเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์และน่าภูมิใจที่สุด เราเป็นประเทศท่องเที่ยวที่อยู่ในลำดับ 4 ของโลกด้านรายได้ เมืองท่องเที่ยวหลักของเราเช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ต่างได้รับการโหวตว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายครั้ง

รายงานของผู้เขียนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการท่องเที่ยว ที่จะมีผลต่อประเทศไทยที่เกิดแล้วในปัจจุบันและอนาคต ให้กับโครงการอนาคตประเทศไทยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอว่า พิษโควิดกรีดลงมาตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยว ซึ่งเปรียบเสมือนสนิมที่กัดกร่อนเสาเหล็กที่เป็นโครงสร้างรายได้ของภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยว 

162030754248

ที่มา: อภิวัฒน์ รัตนวราหะ 2564 โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) ปีที่ 1

แม้ว่าการระบาดของโรคนี้จะผ่านไป สนิมที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างนี้ก็คือความเสี่ยงที่ยังคงอยู่และจะชักนำให้โครงสร้างทั้งระบบล้มครืนลงมาได้ง่ายๆ หากต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจไม่ใช่โควิด-19 แต่อาจเป็นภัยธรรมชาติหรือประเทศลูกค้ารายใหญ่ เช่น จีนมีนโยบายไม่ส่งออกนักท่องเที่ยวไปต่างประเทศ เป็นต้น

สนิมแรกหรือความเสี่ยงที่หนึ่งก็คือ การพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งหากเราแบ่งกลุ่มในโลกเป็น 4 กลุ่มก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ประเทศไทยจัดอยู่ในลีกของสเปนและตุรกี รูปนี้ได้มาจากการศึกษาอนาคตท่องเที่ยวไทย น่าเสียดายว่าลีกนี้ไม่ได้เป็นลีกฟุตบอล แต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดเพราะพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก อาศัยสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจ

คำถามก็คือว่า ในอนาคตเราอยากจะพัฒนาไปเป็นประเทศแบบไหน อยากจะเสี่ยงแบบนี้อยู่ไปเรื่อยๆ หรืออยากจะขยายภาคเศรษฐกิจอื่นให้มากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์นี้เราก็ยังต้องเน้นการกระจายตลาดไม่ให้พึ่งพาตลาดหลักๆ ซึ่งในโลกนี้มีประเทศที่ต้องการมาท่องเที่ยวไทยอีกเป็นจำนวนมาก และยังกระจายตลาดได้อีก แต่การกระจายตลาดไม่ได้ลดความเสี่ยงหาการคระบาดเป็นการระบาดไปทั่วโลก เช่น โควิด-19

ความเสี่ยงที่สองก็คือความเสี่ยงของการกระจุกตัวของการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่กับจังหวัดไม่กี่จังหวัดเท่านั้น เฉพาะกรุงเทพฯ ก็กอบโกยรายได้ไปถึงร้อยละ 38.5 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ถ้ารวมอีก 4 จังหวัดถัดไปคือ จังหวัดอันดามันทั้งสามและเชียงใหม่ ก็จะมีรายรับรวมกันถึง 3 ใน 4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มิหนำซ้ำแหล่งท่องเที่ยวก็ยังกระจุกตัวอีกด้วย

การศึกษาของ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พบว่า แหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เพียงร้อยละ 15 ของกรุงเทพฯ เท่านั้น การกระจุกตัวแบบนี้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงหากมีภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น สึนามิ หรือน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 กลยุทธ์ก็คือต้องกระจายแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งเส้นทางเข้าออกของแหล่งท่องเที่ยวไปยังจังหวัดท่องเที่ยวรอง

ความเสี่ยงที่สามเป็นความเสี่ยงทางด้านสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณอ่อนๆ อยู่บ้างก็คือ ความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวในกรณีที่มีการท่องเที่ยวล้นเกินขีดความสามารถในการรองรับ เกิดการแย่งชิงทรัพยากร การใช้ทรัพยากรเกิดการกระทบกระทั่งทางวัฒนธรรม ความขัดแย้งเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นในช่วงที่คนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น มาเก๊า ฮ่องกง หรือฝรั่งเศส แต่สำหรับคนไทยยังเป็นชาติที่ใจเย็น ใจอ่อน และใจดี ความขัดแย้งถึงขั้นกระทบกระทั่งจึงยังไม่เกิดขึ้น

ความเสี่ยงที่หนึ่งและสองนี้ การแก้ไขและบรรเทาก็จะใช้เวลา แต่ไม่ค่อยจะเกิดแรงต้านเพราะการพัฒนาน่าจะนำไปสู่วิถีที่ดีขึ้นของภาคท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจอื่น ความเสี่ยงที่สามจะต้องอาศัยการปรับตลาดให้เป็นตลาดคุณภาพสูง และการบริหารจัดการของเจ้าภาพซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งแนวโน้มในอนาคตการท่องเที่ยวแบบมวลชนจะค่อยๆ ลดลงเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวอิสระของนักท่องเที่ยวซึ่งกลุ่มเล็กลง

แต่ความเสี่ยงที่แก้ไขยากจะเป็นความเสี่ยงที่สี่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งอุ้ยอ้าย ล้าหลัง เพราะอาศัยกฎหมายที่ตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไปและการแก้ไขกฎหมายก็เป็นไปยาก ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือระบบราชการที่ไม่อยากเปลี่ยนและรักษาสภาพเดิม เมื่อมาประกอบกับฝ่ายการเมือง ซึ่งมีอายุของการอยู่ในอำนาจสั้นก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อพวกพ้อง เช่น ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอาจจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด 11 คน ในเวลา 10 ปี ซึ่งไม่สามารถทำให้การบริหารงานระยะยาวเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะผู้นำจะต้องเรียนรู้ใหม่เสมอ ทั้งยังมีปัญหาคอร์รัปชันซึ่งอาจจะร่วมกันทั้งภาคการเมืองและภาคราชการอีกด้วย

ปัญหาที่รัฐไทยจะเอาไม่อยู่ก็คือ ความล้าหลัง ความไม่มีประสิทธิภาพ และขาดความปลอดภัย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การกำกับดูแลรถส่วนบุคคลที่นำมาใช้บนแพลตฟอร์มสาธารณะ การนำบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยส่วนตัวมาปรับเป็นห้องเช่าของโรงแรม

เคยมีภาคเอกชนพูดว่า คนไทยนั้นไม่แพ้ใครเรื่องขีดความสามารถ แต่ความล้มเหลวของเรานั้นเกิดจากการพ่ายแพ้เชิงกลยุทธ์ และการขาดนวัตกรรมด้านการจัดการของรัฐ?!