ร้านอาหารวอนรัฐเยียวยาสู้วิกฤติ หวังโควิดคลี่คลายดึงลูกค้าต่างชาติ
ร้านอาหารโอด รัฐเข้มมาตรการสกัดไวรัส ขยายวันห้ามนั่งทานในร้าน ไมเนอร์ ฟู้ดฯ ชี้ออำนาจซื้อคนไทยลดลง บาบีคิวพลาซ่า เพนกวิน อีท ชาบู ยูแอนด์ไอ สุกี้ แต่ยอดขายเดลิเวอรี่ต่ำเป้าเป็นแถบ กระทุ้งรัฐคลอดมาตรการเยียวยา
“ธุรกิจร้านอาหาร” มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท กระเทือนหนัก หลังสาขาพื้นที่สีแดง รัฐขยายเวลาห้ามนั่งรับประทานในร้านถึง 17 พ.ค.นี้ ซ้ำเติมภาวะ “เลือดไหล” วอนเห็นมาตรการเยียวยารัฐถึงมือผู้ประกอบการ ธุรกิจดิลิเวอรีลดค่าบริการ แลนด์ลอร์ดลดค่าเช่าพื้นที่ ต่อลมหายใจ หวังแผนเปิดประเทศ ก.ค. ช่วยดึงกำลังซื้อต่างชาติชดเชยตลาดในประเทศ
นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารท่ามกลางโรคโควิด-19 ระบาดรอบ 3 ผลกระทบเกิดขึ้นหนักกว่ารอบแรกมาก ส่วนแนวโน้มการกลับมาเปิดร้าน ยังยืนยันไม่ได้ เพราะประเมินไว้เบื้องต้นการที่รัฐประกาศขยายเวลาห้ามนั่งทานอาหารที่ร้านออกไปถึงวันที่ 17 พ.ค. อาจไม่พอ กรณีเลวร้ายหากยืดเวลาถึงวันที่ 20 พ.ค. หรือสิ้นเดือน ซึ่งธุรกิจจะย่ำแย่ยิ่งขึ้น
“ผลกระทบธุรกิจร้านอาหารรอบนี้หนัก หนักกว่ารอบแรกค่อนข้างมาก”
อัดแคมเปญดึงลูกค้าเวิร์คฟรอมโฮม
ทั้งนี้มองว่าช่วงเวลานี้เป็นการวัดความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ในส่วนไมเนอร์ มีแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอมาก เช่น เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์, แดรี่ควีนและบอนชอน ฯ ปัจจุบันเปิดให้บริการกว่า 1,400 สาขา ส่วนที่ปิดให้บริการไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่เป็นสาขาแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต ฯ
ทั้งนี้ แบรนด์ที่เป็นพระเอกกอบกู้ยอดขายคือ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” พอร์ตใหญ่ ซึ่งวางกลยุทธ์ ปล่อยแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน อีกทั้งเน้นด้านความคุ้มค่าเสิร์ฟลูกค้าที่มีอำนาจซื้อน้อยลง ส่วนแบรนด์ “ซิซซ์เล่อร์” ยังเหนื่อย เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชื่นชอบการมานั่งรับประทานในร้าน ต้องการตักสลัดที่เป็นจุดแข็ง แม้บริษัทปรับตัวส่งเดลิเวอรี่จนยอดขาย “เติบโต” แต่เกิดจากฐานที่ต่ำ
“เดอะพิซซ่า คอมปะนี เป็นพระเอกที่สร้างยอดขายเติบโต ด้วยพอร์ตใหญ่จึงช่วยกอบกู้ยอดขายแบรนด์เล็กๆ ทำให้ภาพรวมไมเนอร์ ฟู้ดยังดูดี”
หวังก.ค.เปิดประเทศเพิ่มกำลังซื้อต่างชาติ
อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองในแง่ดีหากสามารถเปิดประเทศได้ในเดือน ก.ค. และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนหลั่งไหลกลับมา ซึ่งจะเพิ่มอำนาจซื้อต่อลมหายใจธุรกิจได้ ทดแทนกำลังซื้อผู้บริโภคคนไทยที่น้อยลง
“คราวก่อนเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่โควิดรอบ 3 อุโมงค์ปิด ธุรกิจนับหนึ่งใหม่ แต่ยังมองบวกหากไทยเปิดประเทศในเดือนก.ค.นักท่องเที่ยวจะเป็นกำลังซื้อใหม่ๆ ช่วยต่อยอดธุรกิจได้”
ส่วนข้อเสนอแนะให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือร้านอาหาร ในฐานะแบรนด์ใหญ่อาจถูกมองไม่ดี แต่คาดหวังให้เม็ดเงินจากโครงการต่างๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง ฯ ตกถึงแบรนด์ต่างๆ บ้าง อย่างบริษัทมีแบรนด์สเวนเซ่นส์ เจาะกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เปิดเผยว่ายอดขายของร้านอาหารบริษัทต่ำกว่าเป้าหมาย จากเดิมคาดว่าดิลิเวอรี่จะทำได้ 30% ปัจจุบันหลุดต่ำกว่า 20% โดยผลกระทบจากโรคระบาดและมาตรการรัฐรอบนี้หนักหน่วงกว่ารอบแรก โดยระยะเวลาต้องปิดบริการห้ามทานในร้าน ผู้ประกอบการจะต้องทำองค์กรให้ฟิตแอน์เฟิร์ม เพื่อกลับมาแข็งแรงรับวันที่สถานการณ์ดีขึ้น
“พอเจอโควิดรอบ 3 ร้านโพชา สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ทั้งวันทำยอดขายได้ 18 บาท เมื่อสำรวจตลาด ร้านอาหารทุกแบรนด์เงียบเหงา จึงเป็นห่วงผู้ประกอบการรายเล็ก หากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ในวันที่เปิดประเทศ ไทยซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีสตรีทฟู้ดมากมาย อาจไม่เหลือเสน่ห์ดึงดูดนักเดินทางทั่วโลก”
วอนลดค่าขนส่ง-ค่าเช่าพื้นที่
นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้านเพนกวิน อีท ชาบู กล่าวว่า โควิดรอบแรก ผู้ประกอบการร้านอาหารปรับตัวได้ เพราะมีไอเดีย ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ แต่ปัจจุบันยอดขายหลุดเป้าหมายไปไกลมาก เพนกวินฯ จึงหันมาจำหน่ายทุเรียน ทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เดินกลยุทธ์ระยะสั้นให้ธุรกิจอยู่รอด
ทั้งนี้การที่ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบหนัก จึงรวบรวมข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไทย เตรียมเสนอพรรคการเมือง ภาครัฐให้ช่วยเหลือ ได้แก่ 1.ต้องการให้รัฐเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการดิลิเวอรี่เพื่อลดค่าคอมมิชชั่น (Gross Profit) ที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มส่งอาหาร เพราะบางร้านหักลบผลประกอบการต้องขาดทุน
“แอพพลิเคชั่นต้องนำค่าจีพีไปทำการตลาด โปรโมชั่นทำให้บริษัทเหล่านั้นยังขาดทุน แต่หากรัฐเจรจาลดค่าจีพี ช่วยโปรโมทแอพฯให้ จะช่วยต่อท่อหายใจผู้ประกอบการ”
2.เรียกแลนด์ลอร์ด มาหารือลดค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า เพราะร้านอาหารเลือดไหลอยู่ส่วนหนึ่งเพราะค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน หากทำได้ส่วนลดนำไปลดภาษีให้ห้างค้าปลีก โดยต่างประเทศมีการลดเค่าเช่า 50-75% 3.จ่ายค่าชดเชยประกันสังคมเยียวยาพนักงาน 4.ช่วยค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค 50% และ5.จับคู่ธุรกิจให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน ผู้ซื้อวัตถุดิบผู้ขายวัตถุดิบมาเจอกันโดยไม่ผ่านคนกลาง เป็นต้น
“เวลานี้ขอให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤติไปได้ และภาวนาให้รัฐช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก”
นายเชษฐา ส่งทวีผล ประธานที่ปรึกษา บริษัท ยู แอนด์ ไอ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เมื่อเกิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์คลองเตย และการส่งต่อข้อมูลไรเดอร์ติดเชื้อไวรัส ทำให้ยอดขายหดตัวรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารหากมียอดขายไม่ถึง 50% จะไม่สามารถอยู่ได้
นางสาวอลิสา พันธุศักดิ์ เจ้าของ ลา บาแกตต์ (La-Baguette) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด หรือทิฟฟานีโชว์ พัทยา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานร้านอาหาร เพราะเป็นด่านหน้าที่จะให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพราะนาทีนี้ร้านอาหารเป็นธุรกิจสุดท้ายที่เหลือในประเทศ ยืนหยัดมาได้ราว 1 ปี ท่ามกลางอุตสาหกรรมจำนวนมากที่พังครืน รวมถึงการจ่ายชดเชยจากประกันสังคมให้พนักงาน