ปรากฎการณ์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” กับแนวคิดพลเมืองของโลก

เมื่อคนรุ่นใหม่ชวน “ย้ายประเทศกันเถอะ” จึงชวนคิดถึงปัจจัยที่ทำไมกระแสนี้จึงได้รับความสนใจสูงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความเห็นต่าง ที่อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตบอกเจตนารมณ์ในการเขียนเรื่องราวในวันนี้ว่า เหตุผลของการนำเสนอเรื่องนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกๆ ท่าน ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในห้วงนี้ และชวนให้ทุกท่านมองในมุมของผู้คนในยุค Digital Transformation ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ประกอบการพิจารณาวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับปรากฎการณ์บนโลกโซเชียล ในประเด็น ย้ายประเทศกันเถอะ ที่มีผู้ตั้งกลุ่มขึ้น Facebook และมีผู้สนใจเข้าร่วมกลุ่มอย่างรวดเร็วจากระดับพันไปจนถึงครึ่งล้านภายในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่าการเกิดขึ้นของ Digital Era ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างบนโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิง และในไม่ช้าเมื่อการ Transform สมบูรณ์ โลกก็จะเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ อย่างที่ผมได้กล่าวในหลายๆ ครั้งที่ว่า Digital เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ยิ่งใหญ่กว่าการปฏิวัติทางการเกษตร และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มนุษยชาติเลยผ่านมาในอดีต การปฏิวัติ Digital หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “Digital Disruption” ซึ่งน่าจะหมายความว่า Digital นั้นเข้ามาเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ วิถีของโลก แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อ ตลอดจนให้กำเนิดมนุษย์ยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน ไร้ขีดจำกัดในการแสวงหาความรู้ และมีจินตนาการที่กว้างไกล กระบวนการในการคิดวิเคราะห์แยกแยะของเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัลแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผู้ใหญ่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

มนุษย์เปลี่ยนเทคโนโลยี เทคโนโลยีเปลี่ยนมนุษย์

ทุกท่านคงจะคุ้นเคยกับศัพท์ที่ใช้เรียกมนุษย์ที่เกิดในยุคต่างๆ เช่น Baby Boomers ซึ่งเป็นผู้คนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1946-ค.ศ.1964, Gen X ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1965-ค.ศ.1976 มาถึง Gen Y และ Gen Z ผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีวิถีคิด มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนเกิดจากสถานการณ์โลก สภาพสังคมและเทคโนโลยีในแต่ละยุคที่ Generation นั้นๆ ได้พบเจอ

ผมขอยกตัวอย่างผู้คนในยุค Baby Boomers ที่น่าจะเป็นยุคที่คนรุ่นต่อมาจนถึงเด็กๆ ในรุ่นปัจจุบันยังพอจะเห็นการดำเนินชีวิตของคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายกันอยู่บ้าง คนในยุค Baby Boomers คือเด็กหรือคนที่เกิดและเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าสภาพของสังคมในขณะนั้น ทุกๆ ประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เมื่อประชาคมโลกกลับมาสงบอีกครั้ง ทั้งโลกจึงเข้าสู่ยุคฟื้นฟูให้กลับมาเจริญภายใต้สภาพแวดล้อมที่ขาดแคลน และโอกาสใหม่ๆ ที่เปิดกว้าง เด็กในยุค Baby Boomers จึงโตมาแบบที่ต้องขยัน ประหยัด อดทน อดออม สร้างเนื้อสร้างตัว และก็มีหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเนื้อสร้างเป็นเจ้าของธุรกิจ เจ้าของกิจการจนส่งผลถึงลูกหลานให้ได้สบายกันมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามระยะเวลาของยุค Baby Boomers มีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า  20 ปี ทำให้คนในยุค 10 ปีแรกของ Baby Boomers ก็แตกต่างจาก 10 ปีหลังด้วยเช่นกัน ความอดทน อดกลั้นต่อความยากลำบากก็จะมากน้อยต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและประเทศต่างๆ ด้วย เรื่องนี้ผมว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านคงพอเห็นและสังเกตได้บ้างจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัว

และนี่คือตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเพื่อชวนให้ทุกท่านคิดตามว่าความแตกต่างของผู้คนแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ส่งผลต่อความคิดก็เพราะว่าบริบทต่างๆ ที่ต้องเผชิญแตกต่างกันออกไปนั่นเอง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคาดหวังให้คนทุกยุคทุกสมัยมีนิสัยใจคอ ความประพฤติ ความคิดความอ่านเหมือนกัน เชื่อมั่นในสิ่งเหมือนกันไม่ได้อย่างแน่นอน สิ่งที่จะทำได้คือปรับตัวเข้าหากัน พยายามเข้าใจความแตกต่างและที่มาของความคิดหรือแนวทางการดำรงชีวิตของผู้คนแต่ละยุคแต่ละสมัยเพื่อให้สังคมโดยรวมของโลก ของประเทศหรือแม้แต่ในบ้านอยู่กันได้อย่างมีความสุข

เรียนรู้และเข้าใจคนรุ่นใหม่   

ถ้าจะย้อนกลับไปที่คำว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ” ซึ่งเป็นหัวเรื่องของคอลัมน์ในวันนี้ จากการติดตามกลุ่มนี้ใน Facebook จะเห็นได้ว่าคนกลุ่มใหญ่ในเพจนี้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดในห้วง ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา เป็นการรวมตัวกันของคนช่วงปลาย Gen Y ที่เกิดระหว่าง ค.ศ. 1977-1994 Gen Z ที่เกิดระหว่าง ค.ศ.1995 – ค.ศ.2009 เรื่อยมาจนถึงเด็กในยุคปัจจุบันคือ Gen Alpha ที่ถือเป็นกำลังของชาติและโลกต่อไปในอนาคต

เนื่องจาก 3 กลุ่มนี้มีระยะเวลาค่อนข้างยาว ผมเลยจะขออนุญาตเลือกเอาตรงกลาง ห้วงปี ค.ศ.1995 – ค.ศ. 2000 หรือ Millennial ถ้าเทียบเป็นบ้านเราก็เป็นช่วง พ.ศ.2538 – พ.ศ.2543 ถ้ามองในมุมของเทคโนโลยีต้องถือว่าเป็นยุคทองของการสื่อสาร ระบบโทรคมนาคมสมัยใหม่ทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ที่เรียกกันว่าคลื่นลูกที่สามหรือการปฏิวัติเทคโนโลยีแบบเบาๆ พร้อมกับคำว่า โลกาภิวัฒน์ (Globalization) หรือเรียกอีกอย่างว่าโลกไร้พรมแดน เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เชื่อมโยงทั้งโลกเข้าหากันข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถจะรับรู้ไปพร้อมๆ กันได้ทั่วโลกการแสวงหาข้อมูล ความรู้จากคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้เด็กในยุคนั้นเป็นต้นมาสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สื่อสารและรับทราบความเคลื่อนไหวของคนในประเทศอื่นๆ ได้แค่ปลายนิ้ว การเรียนรู้มิได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและในบทเรียนอีกต่อไป ทุกอย่างพิสูจน์ได้จากข้อมูลที่ค้นหาได้ด้วยตนเอง จึงไม่น่าแปลกที่คนหนุ่มสาวหรือแม้แต่เด็กๆ ในปัจจุบันจะพูดถึงการย้ายประเทศ

และการย้ายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่รักชาติเหมือนที่บางคนเข้าใจ แต่มันน่าจะมาจากการที่คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันเขามองตนเองเป็นพลเมืองของโลกและไม่ได้จำกัดตนเองไว้ในเส้นสมมุติที่เรียกว่าเขตแดนอีกต่อไปมากกว่า