สารพัดปัจจัยสนับสนุน 'ความต้องการ' สินค้าโลกพุ่ง ! หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญ ให้มนต์ขลัง '2หุ้นขนส่งทางทะเล' PSL-TTA คืนฟอร์มกำไร สะท้อนผ่านไตรมาส 1 ปี 2564 'เทิร์นอะราวด์' ฟาก “กูรู” ถกอนาคต 'ค่าระวางเรือ' (BDI) มีโอกาสทะลุ 3,300 จุด !
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในรอบแรก เมื่อต้นปี 2563 'ตลาดหุ้นไทย' เผชิญความวิตกกังวัล (Panic) รุนแรง ! สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX ร่วงหนักจากช่วงเดือนม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,600 จุด ลดลงต่ำสุดระดับ 969 จุด (13 มี.ค.63) แต่ผลกระทบดังกล่าวใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน ส่งผลทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นกลับมา 'คึกคัก' อีกครั้ง ซึ่งก็หาเหตุผลอธิบายได้ยากเกิดอะไรขึ้นทำไมตลาดหุ้นจึงสวนทาง 'วิกฤติโควิด-19' เฉกเช่นนี้
หากย้อนดูพบว่า หุ้นรายกลุ่มหรือรายตัวที่ 'ทะยานตัวขึ้น' และผลักดันให้ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นมานั้น ล้วนมี 'ปัจจัยบวก' สนับสนุนที่สามารถอธิบายเหตุและผลได้ และหุ้นหลายกลุ่มที่ปรับตัวขึ้น มีส่วนผลักดันให้ SET INDEX ขยับขึ้นมาจ่อทะลุ 1,600 จุด ! ต่างมีปัจจัยบวกสนับสนุน
หนึ่งในกลุ่มหุ้นที่มี 'สตอรี่โดดเด่น' สวนทางกับวิกฤติโควิด-19 คงต้องยกให้ '2หุ้นกลุ่มขนส่งสินค้าทางเรือ' ที่ผลประกอบการกำลังกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' ! อีกครั้ง อย่าง บมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL และ บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA บ่งชี้ผ่านตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 พลิกเป็น 'กำไรสุทธิ' จากปี 2563 ที่ 'ขาดทุนสุทธิ' โดย PSL กำไรสุทธิ 375.13 ล้านบาท และ TTA กำไรสุทธิ 189.12 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีขาดทุนสุทธิ 1,294.86 ล้านบาท และ 1,944.60 ล้านบาท ตามลำดับ
สะท้อนผ่าน 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (มาร์เก็ตแคป) ของ 2หุ้นกลุ่มขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ 'ปรับตัวเพิ่มขึ้น' ในปัจจุบัน (13 พ.ค.) เทียบกับปี 2563 โดย หุ้น PSL มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 27,911.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,850.62 ล้านบาท หุ้น TTA มาร์เก็ตแคป 33,168.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,296.92 ล้านบาท
เริ่มต้นปี 2564 ! ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิด 'วัฎจักรเชิงบวก' ต่ออุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งทำให้อุปสงค์เติบโตโดดเด่น นำโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีน มูลค่า 6.67 แสนล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ในปลายเดือนพ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เสริมด้วยการกระตุ้นทางการเงินและการคลังประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ออกโดยรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อตอบโต้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 การชะลอตัวของอุปสงค์ในช่วงตรุษจีนของประเทศจีนในไตรมาสแรกที่ไม่ได้เกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในส่วนต่างๆ ของจีนส่งผลให้มีการจำกัดการเดินทางอย่างเสรีในช่วงวันหยุดเทศกาลดังกล่าว
รวมทั้งการส่งออกแร่เหล็กของบราซิลไปจีนในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 18.8% เทียบกับปีก่อน การได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง การกลับมาสต็อกสินค้าคงคลัง ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น การที่จีนห้ามนาเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและเพิ่มความต้องการในแง่ปริมาณตันไมล์ การที่จีนปิดโรงงานหลอมเหล็กที่ก่อมลพิษแต่อนุญาตให้นาเข้าเศษเหล็กเพื่อลดมลพิษจากโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว
'ดัชนีค่าระวางเรือ' หรือ Baltic Dry Index (BDI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 'ระดับ 2,710 จุด' ซึ่งทำจุดสูงสุด (New High) 'ในรอบ 11 ปี' และยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อไปไม่ต่ำกว่า 2 ปี...
สอดรับคำอ้างอิงจาก 'Randy Giveans' นักวิเคราะห์ของ Jefferies กล่าวว่า ดัชนี BDI ที่เพิ่มขึ้นช่วยหุ้นของบริษัทเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองอย่างชัดเจน และคาดว่าดัชนี BDI จะไปแตะถึงระดับ 3,300 จุด ! ภายในเดือนพ.ค. หรือ มิ.ย.
และจากปัจจัยรวมกันระหว่างอุปสงค์ของจีนสำหรับแร่เหล็ก ความต้องการถ่านหินทั่วโลกที่มีเสถียรภาพ การค้าธัญพืช , ถั่วเหลืองที่แข็งแกร่ง และสินค้าแห้งเทกองกลุ่มย่อยที่ช่วยเพิ่ม GDP ซึ่งหากรวมความแข็งแกร่งของอุปสงค์นี้เข้ากับการเติบโตของอุปทานที่น้อยที่สุด และอัตราค่าระวางจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
เมื่อ 'อุปสงค์' (Demand) หรือความต้องการยังคงมากกว่า 'อุปทาน' (Supply) หรือความสามารถในการผลิต ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการกลุ่มสายการเดินเรือทางทะเลมีอนาคตอัน 'สดใส' หลังอยู่ในภาวะซึมเซา หรือเติบโตไม่หวือหวานับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์ม หรือ แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส !
สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางเรื่อง เกิดปัญหาตู้ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จริง ! จากสถานการณ์ของโควิด-19 ซึ่งคาดเกิดมาจาก '2 ปัจจัย' คือ 1. ช่วงของโควิด-19 ระบาดหนัก ๆ หลาย ๆ ประเทศในยุโรปและอเมริกาได้สั่ง 'ปิดประเทศ' (Lockdown) โรงงานผลิตในประเทศปิดตัว สินค้าส่งออกไม่มี สวนทางกับความต้องการนำเข้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากเอเชีย เกิดการล้นทะลักของสินค้าขาเข้า แต่ขาออกไม่มี ในช่วงแรกค่าระวางถูกมากทำให้ไม่คุ้มที่จะตีเรือเปล่ากลับ ตู้คอนเทนเนอร์ถูกทิ้งไว้ตามท่าเรือจำนวนมาก
และ 2.จากการที่ประเทศกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ ลดการ Stock สินค้าช่วง Lockdown ทำให้หลังจากนั้น ประเทศเริ่มคลาย Lockdown สินค้าหลาย ๆ กลุ่มต้องรีบเติม Stock แต่ด้วยเดิมที่ตู้ตกค้างอยู่ประเทศกลุ่มดังกล่าว ทำให้ตู้ต้องวิ่งกลับไปขนสินค้า และค่อยขนกลับมายุโรป สหรัฐฯ อีกรอบ โดยแค่ขาไปก็กินเวลาร่วมเดือน และขากลับอีก 1 เดือน ทำให้ตู้ฝั่งบ้านเราหายไปหมดเลย
รวมทั้ง 'เครื่องบินหยุดบิน' ส่งเสริมปัจจัยในข้อแรก แม้การขนส่งทางเครื่องบินอาจจะดูไม่ได้เยอะ แต่หากลองพิจารณาเรื่องระยะเวลา และจำนวนเที่ยวบินแล้วจะพบว่า การหายไปของการขนส่งทางเครื่องบิน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก
'เฉลิมชัย มหากิจศิริ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 189.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 72% จากไตรมาสก่อน ปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือและกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
โดย 'อัตรากำไรขั้นต้น' ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 13% เป็น 23% ส่วน EBITDA เติบโต 270% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 494.3 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตามปกติ ดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ไตรมาสแรกจะต่ำกว่าไตรมาสอื่นในแต่ละปี และต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าของปีก่อนตามปัจจัยตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 อัตราค่าระวางเรือกลับทะยานไปแตะ 'ระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ' โดย TTA ค่าเฉลี่ยดัชนี BDI ขึ้นไปแตะระดับ 1,739 จุด จากค่าเฉลี่ยระดับ 592 จุด ในไตรมาส 1 ปี 2563 เนื่องจากปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยต่อวันของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เขา แจกแจง ทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 ต่อว่า สำหรับ 'ธุรกิจขนส่งทางเรือ' แนวโน้มที่ดี เนื่องจากยังมีปัจจัยตามฤดูกาลอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการค้าสินค้าแห้งเทกอง อาทิ การส่งออกข้าวโพดของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดี ที่ช่วยส่งเสริมความต้องการสินค้าเทกอง อันจะส่งผลไปถึงค่าระวางเรือในท้ายที่สุด ดังนั้น ภาพรวมปีนี้จึงมีแนวโน้มที่เป็นบวก แม้ยังคงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอยู่บ้างก็ตาม
ขณะที่ 'เมอร์เมด มาริไทม์' เริ่มต้นปีนี้ด้วยความสำเร็จ มีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) แตะระดับ 241 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ สิ้นไตรมาส นอกจากนี้ เมอร์เมดฯ ยังได้มองหาโอกาสใหม่ในงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพิ่มเติม พร้อมเริ่มดำเนินงานไปแล้ว 2 โครงการ ในไตรมาสก่อน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ของกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น
สำหรับแนวโน้มอนาคตของบริษัทที่ให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลยังคงเป็นบวกในระยะกลางถึงระยะยาว โครงการลงทุนต่างๆ ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตลาดหลักสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง อีกทั้งแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นของประเทศนอกทวีปยุโรปจะเพิ่มโอกาสของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
'กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร' นั้น บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปี 2564 แม้ว่าจะเป็นช่วงอ่อนตัวตามฤดูกาลของธุรกิจ เนื่องจากเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง
ดังนั้น บริษัทมีแนวโน้มที่จะ 'พลิกกำไร' ในปี 2564 ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่ง TTA มีกำไรสุทธิ 110 ล้านบาท โดยช่วงต้นปีนี้จะเห็นได้ว่าตลาดสินค้าแห้งเทกองปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้เรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนี BDI ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดกันว่าผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือไตรมาส 1 ปี 2564 จะดีต่อเนื่องและส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในปีนี้
ทั้งนี้ ธุรกิจเรือเทกองมีแนวโน้มแข็งแกร่งจากปริมาณกองเรือทั่วโลกในช่วง 2 ปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 1-2.6% เติบโตต่ำกว่าปริมาณการค้าสินค้าเทกองที่คาดโต 4% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ช่วยหนุนอัตราค่าระวางให้สูงต่อเนื่อง
โดยในปี 2564 ทาง TTA มีแผนจะซื้อเรือเพิ่มอีก 2-3 ลำ โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา TTA ได้ซื้อเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมือสอง คือ เรือทอว์ นิจนิรันดร์ ซึ่งมีขนาดระวางบรรทุกของเรือ 61,144 เดทเวทตัน สร้างในปี 2559 ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ TTA จะซื้อเรือเพิ่มอีก 1-2 ลำ นอกเหนือจากเรือทอว์ นิจนิรันดร์ ที่ได้รับมอบแล้วในเดือนม.ค.
ปัจจุบัน TTA จึงเป็นเจ้าของกองเรือทั้งหมดจำนวน 24 ลำ ขนาดระวางบรรทุกเฉลี่ย 55,913 เดทเวทตัน อายุเฉลี่ยของกองเรือ 12.77 ปี
'ปัจจัยหลักเป็นผลจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณกองเรือทั่วโลกในช่วง 2 ปีนี้ จะเติบโตเพียง 1-2.6% ซึ่งต่ำกว่าปริมาณการค้าสินค้าเทกองที่คาดว่าจะเติบโต 4% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก'
นอกจากนี้ TTA ยังมีฐานะการเงินมั่นคงด้วยเงินสดภายใต้การบริหาร จำนวน 7,700 ล้านบาท มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องสูง ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมาโดยตลอด
ขณะที่ บมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง หรือ PSL รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 375.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 117.10 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากขาดทุนสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 1,294.86 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการเดินเรือสุทธิ (รายได้จากการเดินเรือสุทธิจากรายจ่ายท่าเรือและน้ามันเชื้อเพลิง) ไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 37% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อลาเรือเพิ่มขึ้นจาก 8,398 ดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2563 เป็น 12,157 ดอลลาร์ในไตรมาสแรกปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานในตลาดขนส่งสินค้าแห้งเทกองผิดเพี้ยนไป ทำให้ยากที่จะคาดว่าวัฏจักรค่าระวางล่าสุดที่แตะจุดสูงสุดในปี 2562 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยังคงมีแนวโน้มลดลง แต่นโยบายเศรษฐกิจของจีนจะมีความสำคัญในการ 'ลดความเสี่ยง' ในขณะนี้ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว ดังนั้นจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อค่าระวางเรือในระยะยาวเนื่องจากอุปทานที่จำกัด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการเติบโตของจีนจะชะลอตัวก็ตาม (ข้อมูลจาก Braemar ACM วันที่ 4 มี.ค. 2564)