โควิด-19 ทุบยอดขาย “อิชิตัน-เซ็ปเป้” “ซีวิท” พระเอก หนุน “โอสถสภา” โต
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯทยอยรายงานผลประกอบการออกมาเป็นลำดับ มีทั้งธุรกิจ “ฝ่าวิกฤติ” สร้างการเติบโตได้ แต่มีจำนวนไม่น้อย “ยอดขาย” และ “กำไร” ปรับตัวลดลง เพราะยังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด อำนาจซื้อผู้บริโภคหายไป
ฤดูร้อนถือเป็น “ไฮซีซัน” ของสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เครื่องดื่ม” เพราะซัมเมอร์ สภาพอากาศร้อนระอุ ทำให้การดื่มเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ได้รับอานิสงส์ ผู้บิรโภคดื่มเพื่อดับกระหาย เพิ่มความสดชื่น และเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย แต่หลายหมวดต้องอาศัย “พฤติกรรม” หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านของกลุ่มเป้าหมาย การทำกิจกรรมต่างๆ จึงมีผลต่อยอดขาย
ทั้งนี้ โรคระบาดที่ยังเกิดขึ้นเป็นระลอก ทำให้รัฐใช้มาตรการต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น หลายบริษัทจึงต้องปรับแผน “ขายเครื่องดื่มยกลัง” ให้มีติดตู้เย็นที่บ้าน
ตลาดเครื่องดื่มทุกหมวดมีมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” ทั้งน้ำดื่ม น้ำอัดลม ชาพร้อมดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเสริมสุขภาพหรือฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์ ซึ่งมี “บิ๊กแบรนด์” ทำตลาด ส่วนสถานการณ์ไตรมาส 1 ผลประกอบการออกมาอย่างไร ติดตาม
++อิชิตัน กำไรลด
ปรับตัวกันหลายกระบวนท่า สำหรับบมจ.อิชิตัน กรุ๊ป ของ “เสี่ยตัน ภาสกรนที” เพราะปีที่ผ่านมาโควิดเล่นงานธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ จากกิจการที่พึ่งพา “ชาเขียวพร้อมดื่ม” เริ่มหันมาให้ความสำคัญเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ชาหรือ Non-Tea มากขึ้น และขยายไปถึงธุรกิจที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม หรือ Non-Drink
ไตรมาส 1 อิชิตัน มีรายได้จากการขาย 1,287.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขาในประเทศขยายตัว 19% จากเครื่องดื่มวิตามิน ชาพร้อมดื่ม แต่ยอดขายต่างประเทศหดตัวรุนแรง 50.3% เพราะประเทศคู่ค้ายังเผชิญโควิด-19 ระบาดไม่ต่างจากไทย
ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1 อยู่ที่ 121.6 ล้านบาท ลดลง 23.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อไตรมาสแรกออกสตาร์ทด้วยตัวเลข “หดตัว” และโรคระบาดยังอยู่กับประเทศไทย ทำให้ทั้งปี 2564 ยังเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ ในการวางกลยุทธ์เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด และเติบโตได้
++เซ็ปเป้ ยอดขายหดตัว แต่กำไรโต 2.5%
ธุรกิจแม้ยอดขายจะเติบโต แต่หากบรรทัดสุดท้ายหรือ “กำไร” ไม่มี ไปจนถึงขาดทุนย่อมไม่ดีต่อผู้ถือหุ้น และบริษัทเป็นแน่ “เซ็ปเป้” อีกบิ๊กเครื่องดื่มที่ไตรมาส 1 ทำผลงานยอดขายอาจไม่เข้าตากรรมการ แต่กำไรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ “เติบโต” แม้จะบางมากก็ดีกว่าไม่โตเลย
ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เผยตัวเลขกำไรไตรมาส 1 ของบริษัทอยู่ที่ 85 ล้านบาท โต 2.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน การเติบโตเกิดจากการปรับตัว พลิกกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดเครื่องดื่มที่ชะลอตัวจากสถาการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าขึ้น
สำหรับยอดขายไตรมาสแรกทำได้ 772.6 ล้านบาท ลดลง 8.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดขายได้รับผลกระทบจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ล่าสุดบริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของทั้ง 2 ตลาดในไตรมาส 2 ของเครื่องดื่มบางหมวดหมู่ หลังทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีน และมีความหวังว่าตลาดต่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างมีนัยยะ
ช่วง 9 เดือนที่เหลือ บริษัทมุ่งมั่นรักษาการเป็น “ผู้นำ” ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริ้งค์ โดยเตรียมออกสินค้าใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 รายการ(SKUs) มุ่งเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกจากเดิม 2,000 จุด เป็น 8,000 จุด ลุยสินค้าเกี่ยวกับพืชกัญชา-กัญชง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากซุ่มคิดค้นและพัฒนาสูตรสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว
++โอสถสภา โกยกำไร 1,004 ล้านบาท ทำนิวไฮ
ท่ามกลาง “วิกฤติ” โรคระบาด “โอสถสภา” สามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นทั้งด้าน “ยอดขาย” และ “กำไร” และยังสร้างสถิติสุงสุดหรือNew-High นับตั้งแต่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
ธนา ไชยประสิทธิ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ฉายภาพว่า ธุรกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่โอสถสภาพ มีควาามยืดหยุ่น และปรับตัวให้สอดคล้องบสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนภายใต้โครงการ Fit Fast Firm ส่งผลให้ตรมาส 1 บริษัท สร้างรายได้รวม 7,122 ล้านบาท เติบโต 3.15 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อร ส่วนรายได้จากการขายสินค้าอยูที่ 6,776 ล้านบาท แต่ “กำไรสุทธิ”ทำนิวไฮที่ 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากการบริหารจัดการที่ดี ความแข็งแกร่งของแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ ยังส่งผลต่อการเติบโต การมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภครักสุขภาพอย่างเครื่องดื่มวิตามินซีแบรนด์ “ซีวิท” ยังเป็นพระเอกในการผลักดันยอดขายด้วย
ทั้งนี้ หากดูพอร์ตสินค้า “เครื่องดื่มชูกำลัง” ที่เป็นพอร์ตใหญ่ และมีเบอร์ 1 อย่าง “เอ็ม-150” และแบรนด์รองอีกมากมาย ยังรวมพลังกันสร้างการเติบโต โดยเฉพาะ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” หรือ Market share เพิ่มขึ้น 0.9% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรวมอยู่ที่ 54.9% เฉพาะ “เอ็ม-150” เพิ่มขึ้น 0.8% สวนทางตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไตรมาส 1 หดตัว ส่วน “ซีวิท” ยังรักษาการเป็นผู้นำตลาดได้เช่นกัน ครองส่วนแบ่งตลาด 34.9% จากการขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
++ส่ง “ซีวิท” ขนาด 1 ลิตร
รับ New-Normal ทำงาน-อยู่บ้าน
เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต ในไตรมาส 2 การออกอาวุธตลาดยังทำต่อเนื่อง โดยมุ่งใช้จุดแข็งด้านแบรนด์พอร์ตโฟลิโอมาช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ เน้นทำตลาดที่ตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพและอยู่บ้านมากขึ้น เช่น ออกเครื่องดื่มซีวิทบรรจุภัณฑ์ใหม่ขนาด 1 ลิตร
นอกจากนี้ บริษัทเน้นสร้างความร่วมมือทางธุรกิจใหม่กับพันธมิตรต่างๆ เพื่อผลักดันการเติบโตและสร้างธุรกิจในอนาคต เช่น การผนึก “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” ขยายตลาดเครื่องดื่มวิตามิน ตอบโจทย์กระแสการดูแลใส่ใจสุขภาพ ความร่วมมือกับ “ยันฮี” ยังมีต่อเนื่อง โดยบริษัทจะพัฒนาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพร รวมถึงสารสกัดจากกัญชา กัญชง (CBD)
บริษัทยังสร้างปรากฏการณ์ตลาดรวมผู้นำจาก 2 วงการแต่มีจุดเชื่อมโยงคือกลุ่มเป้าหมายเดียวกันอย่าง “เอ็ม-150Xปูนตราเสือ” ลุยแคมเปญ “ฮึดสู้อย่างเสือ หัวใจเกินร้อย” ส่งเครื่องดื่ม เอ็ม-150 กระชายดำผสมน้ำผึ้ง X ปูนตราเสือ รุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น พร้อมของพรีเมียมที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เจาะกลุ่มช่าง ผู้รับเหมา ร่วมมือกับ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เพื่อส่งเครื่องดื่มถึงมือผู้บริโภค เป็นต้น
“บริษัทนำจุดแข็งของโอสถสภาและพันธมิตรมาสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านใหม่แก่ผู้บริโภคและขยายไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต”
ส่วนสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลหรือ Personal Care ซึ่งบริษัทหมายมั่นปั้นพอร์ตโฟลิโอให้ใหญ่ขึ้น ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก อาจไม่สวยหรูนัก โดยทำรายได้รวมที่ 500 ล้านบาท ลดลง 18.9%