ภูมิทัศน์ 'เศรษฐกิจไทย' ปี 2564
ผ่าภูมิทัศน์ "เศรษฐกิจไทย" จะเป็นอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 หลังต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
หลายท่านอาจตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะเป็นอย่างไร หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่? และภาครัฐมีเม็ดเงินเหลือเพียงพอในการเยียวยาเศรษฐกิจหรือไม่? วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันครับ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว โดยจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย จากการที่หลายประเทศต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวสูงถึงร้อยละ -12.1 นับเป็นการหดตัวสูงที่สุดในรอบ 22 ปี ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -12.5 ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2541
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -6.4 และ -4.2 ต่อปี ตามลำดับ เป็นผลจากที่รัฐบาลและประชาชนสามารถร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการแพร่ระบาดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ภาคการผลิตต่างๆ สามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้ง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้มีการดำเนินมาตรการการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2564 นี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยตัวแปรสำคัญก็คือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวไทยให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุดและสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นปกติอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ท่านควรติดตามอย่างใกล้ชิดและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากภายนอกหรือปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่
(1) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระจายวัคซีนและความสามารถในควบคุมแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 2 ล้านคน หดตัวสูงถึงร้อยละ 71 ต่อปี โดยคาดว่าในช่วงต้นปีจนถึงกลางปีนี้จะยังคงเข้ามาได้อย่างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ และนักธุรกิจ ขณะที่ในช่วงปลายปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วและให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 12 ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในปี 2563 เหลือเพียงกว่าร้อยละ 5 เท่านั้น
(3) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ที่มีแนวโน้มไหลเข้าสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเช่นกัน
(4) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากปีก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น
(5) การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ) ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น
ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี กลับมาขยายตัวอีกครั้งจากปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี
โดยแหล่งที่มาของการขยายตัวมาจากมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวสูงที่ร้อยละ 11.0 ต่อปี เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรายจ่ายภาคสาธารณะทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 4.09 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะจากการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความครอบคลุมแก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ตลอดจนแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2564 รัฐบาลมีงบประมาณที่เพียงพอ ทั้งในส่วนของงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท
รวมเป็นเม็ดเงินกว่า 3.8 แสนล้านบาท สำหรับบริหารจัดการเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง