‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.37บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ระยะสั้นยังเห็นการอ่อนค่าได้ ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย จากวันนี้คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35- 31.45บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.35-31.45 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนแนวโน้มเงินบาท เราคงมองว่า แรงกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่ายังคงมีอยู่ในระยะสั้น จากความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็จะช่วยไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากนักในระยะสั้น
เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเจอแนวต้านใกล้ระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าว เป็นช่วงที่ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าก็รอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่จำเป็นต้องแลกซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าอยู่ แต่ในระยะยาว เราคงมองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าตลาดทุนไทย ดังนั้นเราจึงมองว่า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินบาท หากเงินบาทอ่อนค่าลง
ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และมองว่าเฟดอาจจะไม่รีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) ในปีนี้ หากข้อมูลการจ้างงานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นมาก ซึ่งตลาดจะจับตา รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมต่อไป
ทั้งนี้การกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของตลาด นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโต หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1.77% และช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปิดบวกกว่า 1.06% ขณะที่ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ท่ามกลางความกังวลว่าอิหร่านจะกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น หากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯได้กดดันให้ ตลาดเทขายหุ้นในกลุ่มพลังงานต่อเนื่อง กดดัน ดัชนี Downjones ปิดบวกเพียง 0.55%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 พุ่งขึ้นกว่า 1.60% ตามการรีบาวด์แรงของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen (+5.4%), Infineon (+3.5%) และ ASML (+3.1%) ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่ม Cyclical อื่นๆ อย่าง หุ้นกลุ่มการเงินก็ปรับตัวขึ้น ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ออกมาดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลง 3bps สู่ระดับ 1.64% หลังผู้เล่นตลาดคลายกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและมองว่าเฟดก็ยังไม่รีบปรับลดคิวอี จนกว่าข้อมูลตลาดแรงงานจะแข็งแกร่ง
สำหรับตลาดค่าเงิน เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สินทรัพย์หลบความผันผวนของตลาดอย่าง เงินดอลลาร์ ก็มีความจำเป็นน้อยลง กอปรกับ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ย่อตัวลงต่อ ทำให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 89.76 จุด หนุนให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.222 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินเยน (JPY) ที่แข็งค่าสู่ระดับ 108.8 เยนต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ยุโรป ผ่านการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ภาคการผลิตและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ระดับ 60.2จุด และ 64.5 จุด (เกิน 50 จุด หมายถึง การขยายตัว)
ส่วนทางด้านยุโรป ภาคการผลิตและการบริการก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.6 จุด และ 52.4 จุดนอกจากนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -6.7 จุด จาก -8.1 จุดในเดือนก่อน