'ประกันชีวิต' หรือ 'ประกันสุขภาพ' ดียังไง? ส่องพฤติกรรมคนไทย 'ลงทุน' กับ 'สุขภาพ' มากแค่ไหน?

'ประกันชีวิต' หรือ 'ประกันสุขภาพ' ดียังไง? ส่องพฤติกรรมคนไทย 'ลงทุน' กับ 'สุขภาพ' มากแค่ไหน?

ส่องพฤติกรรมคนไทย กับการจ่ายเงินเพื่อ "สุขภาพ" และการ "ลงทุนในสุขภาพ" ของตัวเอง รวมถึง "ประกันชีวิต" และ "ประกันชีวิต" ที่สะท้อนการวางแผนการเงินที่ดี พร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพแบบคาดไม่ถึง

การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ย้ำเตือนให้หลายคนมองเห็นว่าสุขภาพว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องวางแผน ทว่า ที่ผ่านพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม "การใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ" "การทำประกันสุขภาพ" และ "การทำประกันชีวิต" ของคนไทยมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ และเทียบกับสัดส่วนของประเทศอื่นๆ 

  •  ประเทศที่มีการทำประกันสุขภาพมากที่สุด 5 อันดับแรก 

อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา ทำประกันมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1,280,443 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อันดับที่ 2 ญี่ปุ่น 479,762 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อันดับที่ 3 สหราชอาณาจักร 351,266 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อันดับที่ 4 จีน 328,439 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

และอันดับที่ 5 ฝรั่งเศส 270,520 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 31 โดยทำประกันรวมอยู่ที่ 21,696 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

แต่หลังจากที่มีการระบาดของ "โควิด-19" สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย. 64 พบว่า "ยอดขายประกันโควิด" ในระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 13.8 ล้านกรมธรรม์

คิดเป็นเบี้ยประกันรับรวม 5,925 ล้านบาท โดยยอดเคลมประกันรวม 195 ล้านบาท แต่เฉพาะเดือน เม.ย. 64 ซึ่งมีการระบาดระลอก 3 อย่างรุนแรง ทำให้มียอดขายประกันโควิดสูงถึง 3.15 ล้านฉบับ โดยยอดเคลมประกันอยู่ที่ 24.6 ล้านบาท

สะท้อนว่า คนส่วนใหญ่เริ่มมองหาประกันเพื่อรับความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น และอีกนัยหนึ่งการทำประกันโควิด-19 ยังสะท้อนว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพเบื้องต้นที่ครอบคลุมอยู่ก่อนหน้านี้ 

   

  •  ทำไมคนไทยไม่ค่อยทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ? 

1. มิติของใช้จ่าย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำประกัน หรือลงทุนในสุขภาพ มีเรื่องของ "เงิน" เข้ามาเกี่ยวข้อง จากตัวเลขการสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) พบว่า 

ครัวเรือนไทยมีรายจ่ายประกันชีวิต 8.9% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนการทำประกันชีวิตมากกว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และแน่นอนว่าจำนวนเบี้ยประกันต่อปีของกลุ่มที่มีรายได้สูงก็มากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเช่นกัน 

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่ารายได้ มีส่วนสำคัญในการวางแผนการทางเงินในมิติเรื่องสุขภาพ ที่บางคนอาจไม่เห็นผลกระทบในระยะสั้น จึงยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น 

162158987750

2. ทัศนคติต่อการทำประกันและการดูแลสุขภาพ

คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพราะมองเห็นว่า "ไม่สำคัญ" ซึ่งอาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี อายุยังน้อย หรือมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ฯลฯ ซึ่งอาจมองข้ามหลายประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องสุขภาพและการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้แก่

- โรคไม่เลือกวัย

อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โรคเรื้องรัง โรคร้าย หรือแม้แต่โรคระบาดอย่าง "โควิด-19" ก็สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนเช่นเดียวกัน และไม่มีหลักประกันใดที่ระบุว่าคนที่มีอายุน้อยกว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอายุมากเสมอไป

- ปัญหาสุขภาพกันดีกว่าแก้

ป่วยก็รักษา แต่อาการป่วยบางประเภทรักษาได้ยาก หรือมีสภาวะฉับพลันที่การตามรักษาหลังป่วยอาจช้าเกินไป 

- อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือค่ารักษาพยาบาลในไทย มีการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และมีอัตราเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในระยะยาวที่ 3% เสียอีก

- ผลกระทบการทำงาน และการเงินเมื่อเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต 

สิ่งที่น่ากังวลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาสุขภาพคือปัญหาทางการเงินที่ส่งผลกระทบโดยตรงเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น "ค่ารักษาพยาบาล" ที่จะต้องจ่าย และการ "ขาดรายได้" เมื่อเจ็บป่วย 

                      

  •  มีประกันสุขภาพ และประกันชีวิตไปทำไม ? 

จุดประสงค์หลักของการทำ "ประกันสุขภาพ" และ "ประกันชีวิต" คือการทำหน้าที่เป็นเบาะนุ่มๆ รองรับแรงกระแทกเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุ โรคร้าย โรคเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินในการรักษา และส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ 

พูดง่ายๆ ก็คือ การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต คือส่วนหนึ่งของการ "วางแผนทางการเงิน" หรือ "การลงทุนในสุขภาพ" ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัวแล้วจะช่วยให้คนที่วางแผนได้ดี จะลดความเสี่ยงการเงินพังแม้ในวันที่สุขภาพพัง

ที่มา: คปภ. scb mtl-insure กรุงเทพธุรกิจ