“ปตท.”รอรัฐชัดเจนยื่นชิปเปอร์แอลเอ็นจี
ปตท.ยังไม่สรุป จีพีเอสซี ยื่นขอไลเซ่น ชิปเปอร์แอลเอ็นจี เผยขอดูทิศทางนโยบาย เล็งจังหวะ ส่งออกแอลเอ็นจี ล็อตใหม่ ไตรมาส 3-4 ปีนี้
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 โดยแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ 1. ตลาดที่มีการควบคุม (Regulated Market) และ 2. ตลาดที่มีการควบคุมบางส่วน (Partially Regulated Market) ทำให้เกิดความชัดเจนในการแข่งขันมากขึ้น และปตท.ได้เตรียมพร้อมแยกหน่วยงานดำเนินการระหว่าง 2 ตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าก๊าซฯ มากขึ้น และในแง่ของ ปตท.ก็จะต้องปรับตัวรองรับการแข่งขัน โดยหันไปเจาะตลาดลูกค้ารายใหม่ๆเพิ่มขึ้น พร้อมแสวงหาโอกาสในการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ไปยังประเทศรอบๆบ้าน
ส่วนการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถยื่นเป็นผู้รอใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper LNG) เพิ่มขึ้นนั้น ในส่วนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. จะตัดสินใจยื่นเป็น Shipper รายใหม่ด้วยหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูทิศทางนโยบายภาครัฐเพิ่มเติมก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ส่งบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. (PTTEP) ถือหุ้นในสัดส่วนฝ่ายละ 50% ยื่นขอใบอนุญาต Shipper ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งขณะนี้ อยู่ในกระบวนการรอการพิจารณาจาก กกพ. โดยปริมาณการขอนำเข้า LNG เบื้องต้นไม่ถึง 1 ล้านตัน และเป็นการนำเข้ามาป้อนให้กับลูกค้าภายใต้สัญญาซื้อขายใหม่ ซึ่งจะไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซที่มีกับ ปตท.เดิม
นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของ ปตท. ภายใต้โครงการ ERC Sandbox โดย ปตท.ได้ดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) เที่ยวเรือแรก ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประมาณ 62,449 ตัน หรือ 3,262,266 ล้านบีทียู (MMBtu) ทำให้เกิดส่วนต่างราคาและมีรายได้นำส่งคืนภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติต่อไป
ขณะเดียวกันในปีนี้ ปตท.อยู่ระหว่างพิจารณาจังหวะที่จะส่งออก LNG ล็อตต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ เนื่องจากจะเป็นช่วงฤดูหนาว ที่ในต่างประเทศมีความต้องการใช้ LNG สูงขึ้น และทำให้ราคา LNG อยู่ในระดับสูง ก็จะเอื้อต่อการส่งออก