เช็กธุรกิจรุ่ง-ร่วง พร้อมสูตรคิกออฟไตรมาส 2
เป็นอีก ไตรมาสที่ธุรกิจต้องเผชิญความท้าทาย แบกรับภารกิจการตีโจทย์ หาหนทางให้ "อยู่รอด" พ้นเงื้อมมือ "วิกฤติโควิด" ก่อนรบไตรมาส 2 สานเป้าทั้งปี ส่องโค้งแรก ธุรกิจไหนรอด-ร่วง และแต่ละองค์กร วางหมากรุกฝ่ามรสุมไวรัสร้ายด้วยกระบวนท่าไหน ติดตาม!
“ธุรกิจ” มีหลากหลายสูตรให้เกาะติด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “เร็ว-แรง” หรือเปลี่ยนช้าแต่มาแบบพายุถาโถม ซึ่งผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ล้วนมีมุมมองที่ต่างออกไป บ้างต้องมีแผนระยะกลาง-ยาว เพื่อกำกับทิศทางการทำงาน เพราะแผนงานระยะสั้น อาจทำให้ไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด บ้างบอกต้องมีแผนสั้นให้ทันท่วงทีทุกเหตุการณ์ แต่ต้องไม่ทิ้งแผนระยะกลางและยาว
ปี 2564 การออกตัวทำธุรกิจไม่ง่าย กลับกันยากยิ่งกว่าเดิม เพราะ “โรคโควิด-19” ที่ระบาดในไทยเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งหลายบริษัทลงความเห็นว่ากระเทือนการค้าขาย “สาหัสสากรรจ์” กว่าปีที่แล้วอย่างมาก เพราะกิจการที่ลุ้น..ตัวโก่ง! ว่าจะฟื้นตัว เริ่มทำเงินได้อีกครั้ง กลับต้องโดนทุบซ้ำ! ให้ทรุดหนักไม่เป็นท่า
ทั้งนี้ ผลประกอบการ เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่ากิจการไหนรุ่ง-ร่วง แล้วไตรมาส 2 ต่อเนื่องจนถึงปลายปี แต่ละบริษัทยังปิ๊งไอเดีย สรรหาอาวุธการตลาดมาสู้รบกับปัจจัยลบรอบด้านได้หรือไม่ ต้องติดตาม
++สื่อเวิร์คพอยท์-โมโน-ช่อง 3 กำไรโต
เมื่อต้องเผชิญวิกฤติ วิบากกรรมโรคระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า อาจบั่นทอนให้บางธุรกิจถอดใจยกธงขาว เพราะหากจะให้แบก “ขาดทุน” เป็นปีๆต้องคิดให้หนัก โดยเฉพาะรายย่อย แต่บริษัทจดทะเยียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ องค์กรเล็กใหญ่ที่ยังมีศักยภาพ เชื่อว่ากัดฟันฮึดสู้! กันอีกยก ต่อให้หลังชนฝาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
หลายบริษัทเคยอยู่ในอาการโคม่า! ขาดทุนมาอย่างยาวนาน เช่น ธุรกิจสื่อ, เครื่องดื่ม, อาหาร, สินค้าแฟชั่น, สิ่งทอ เป็นต้น ส่อง 3 เดือนแรก แต่ละเซ็กเตอร์ มี “รายได้-กำไร-ขาดทุน” แตกต่างกันไปดังนี้
หมวดสื่อ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ รายได้(ไม่รวมรายได้อื่น)อยู่ที่ 579.64 ล้านบาท ลดลง 4% หรือ 25.44 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้จากรายการโทรทัศน์ 555.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% หรือ 55.68 ล้านบาท เพราะมีรายการใหม่ เช่น ร้องข้ามกำแพง หัวท้ายตายก่อน ฯ ส่วนรับจ้างจัดงาน 7.95 ล้านบาท ลดลง 70% เพราะโควิดระบาดททำให้จัดกิจกรรมหรืออีเวนท์ไม่ได้ ลูกค้าเลื่อนจัดงาน รายได้จัดคอนเสิร์ต-ละครเวที 2.83 ล้านบาท ลดลง 75% เพราะกฎเกณฑ์ ประกาศของรัฐ การขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรม เป็นต้น แต่ “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 117.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154% เทียบชาวงเดียวกันปีก่อน
ส่วน บมจ.โมโน เน็กซ์ หรือช่องโมโน 29 รายได้รวม563.5 ล้านบา เพิ่มขึ้น 51.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 13.1 ล้านบาทท เพิ่มขึ้น 103.4% ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภายใน หันมาโฟกัสธุรกิจหลัก การลุยผลิตคอนเทนท์เสิร์ฟโมโนแม็กซ์ แพลตฟอร์มออนไลน์(OTT) และ GIGATV ที่โตรับวิถีชีวืตใหม่(New Normal) การบริหารต้นทุนและคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว
บมจ.บีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 มีรายได้รวม 1,308 ล้านบาท หดตัว 20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้สำคัญจากการขายโฆษณาอยู่ที่ 1,174.5 ล้านบาท ยังคงลดลง 16.1% ส่วนรายไดจากการขายลิขสิทธิ์ การจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ รวมถึงการขายสินค้าอยู่ในภาวะ “ติดลบ” ยกแผงเช่นกัน แต่ “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 138.8 ล้านบาท เติบโต 150.5%
++เครื่องดื่มยอดขายลด! กำไรยังพอมี
แม้เครื่องดื่มจะคาบเกี่ยว “ไฮซีซั่น” คือช่วงซัมเมอร์ แต่โรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย จนทำให้
ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ประกอบกับเงินในกระเป๋าน้อยลง จึงมีผลต่อตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เครื่องดื่มสุขภาพ ยังพอเห็นโอกาสสดใส ฝ่าวิกฤติโตได้
ทั้งนี้ ผลงานหมวดเครื่องดื่มไตรมาส 1 บมจ.โอสถสภา สร้างรายได้รวม 7,122 ล้านบาท เติบโต 3.15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนรายได้จากการขายสินค้าอยูที่ 6,776 ล้านบาท แต่ผลงานโดดเด่นคือ “กำไรสุทธิ”ทำนิวไฮที่ 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% บมจ.เซ็ปเป้ ยอดขายไตรมาสแรกทำได้ 772.6 ล้านบาท ลดลง 8.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท โต 2.5%
บมจ. อิชิตัน กรุ๊ป ไตรมาส 1 มีรายได้จากการขาย 1,287.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 121.6 ล้านบาท ลดลง 23.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป มีรายได้จากการขายรวมไตรมาส 1 ที่ 4,030 ล้านบาท ลดลง 0.7% และทำ “กำไรสุทธิ” 700 ล้านบาท ลดลง 12.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน บมจ.หาดทิพย์ รายได้จากการขาย 1,618 ล้านบาท ลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.7% บมจ.เสริมสุข มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,496 ล้านบาท ลดลง 16.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุผลหนีไม่พ้นผลกระทบจากโรคโควิด-19ระบาดรอบใหม่ เศรษฐกิจชะลอตัว กระเทือนยอดขายห้างร้านต่างๆที่เจาะลูกค้าบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้าน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 25 ล้านบาท ลดลง 18.2%
++อาหารการกิน
สินค้าจำเป็น ไม่พ้นหดตัว
ธุรกิจร้านอาหารที่ที่เคยอู้ฟู่มูลค่า 4 แสนล้านบาท ฉายแวว “ร่วง” เพราะมาตรการเว้นระยะห่างที่นั่งในร้าน การจำกัดเวลาเปิดให้บริการ ผู้บริโภคก็ผวา! ไม่อยากออกจากบ้าน จึงกระเทือนยอดขาย ตัวเลขยักษ์ใหญ่อาหารสะท้อนสถานการณ์ได้ดี โดย บมจ.เอ็มเค เรสโตรองส์ มีรายได้จากการขายไตรมาส 1 มูลค่า 3,116 ล้านบาท ลดลง 17.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำ “กำไรสุทธิ” 89 ล้านบาท ลดลง 73.9% หรือ 251 ล้านบาท
ฝั่ง เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ซึ่งมีร้านอาหารทั้งที่บริษัทลงทุนเอง ร้านรูปแบบแฟรนไชส์รวม 2,365 สาขา มียอดขายรวมไตรมาส 1 ลดลง12.4% ธุรกิจร้านอาหารในประเทศยอดขายลดลง 24.7% โดยสาขาเดิม(Same store) ลดลง 27.5% ผลจากมาตรการสกัดโรคระบาดของรัฐที่ให้จำกัดเวลาเปิดปิดร้าน การเว้นระยะห่างที่นั่งในร้าน กระทบจำนวนลูกค้าเข้ามาในร้าน รวมถึงการปิดบางสาขาด้วย
อีกหมวดสินค้าจำเป็นหรือ FMCG ที่มีบิ๊กแบรนด์มากมายยังคงโดนหางเลข อย่างองค์กรเก่าแก่เกือบ 80 ปี อย่าง บมจ.สหพัฒนพิบูล แม้ไตรมาส 1 จะทำรายได้รวม 8,528.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “กำไรสุทธิ” 358.24 ล้านบาท “ลดลง 3.9%” ด้าน บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ที่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เบเกอรี่ “ฟาร์มเฮ้าส์” และอีกหลายแบรนด์สร้างรายไ้ด้จากการขาย 5,791.50 ล้านบาท ลดลง 2.03% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำ “กำไรสุทธิ” 845.08 ล้านบาท “ลดลง 15.98%” จากยอดขายรวมลด และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น
++โอสถสภา สานเป้า ”กำไร” โต
แม้จะทำผลงานโดดเด่น “กำไร” ทุบสถิติตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ภารกิจพิชิตเป้าหมายยังมีเพียบ สำหรับองค์กร 130 ปี อย่าง “โอสถสภา” ซึ่ง จิตอาภา อัมราลิขิต หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางการเงินของบริษัทฉายภาพรวมตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 20,000 ล้านบาท ยังอยู่ใน “แดนลบ” 6.5% แต่บริษัทยังครองส่วนแบ่งตลาด 54.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล 9,000 ล้านบาท หดตัว 11.8% “ซีวิท” พระเอกแห่งปีมีส่วนแบ่งตลาด 34.% เป็นเบอร์ 1 เช่นกัน
ส่วนตลาดสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(Personal care)เช่น แป้งเด็กมูลค่าตลาด 2,100 ล้านบาท หดตัว 13% เบบี้มายด์ครองเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่ง 25.7% ส่วนสบู่เหลวเด็กูลค่า 1,300 ล้านบาท หดตัว 12% แต่ส่วนแบ่งของเบบี้มายด์ยังคงเป็น “ผู้นำ” ที่ 33.9% แต่ภาพรวมสินค้าทั้งหมวดยัง “ติดลบ” 22%
แม้ตลาดจะมี “อุปสรรค” และ “โอกาส” ปะปนกัน เป้าหมายสร้างการเติบโตของ “กำไร” เป็นโจทย์ใหญ่ของบริษัท ซึ่งปีนี้ 5 เรื่องใหญ่ต้องทำต่อ ได้แก่ 1.ผลักดันเครื่องดื่มชูกำลังให้เติบโต จึงเห็นการออกสินค้าใหม่เสิร์ฟลูกค้าใหม่ๆ เช่น ลิโพไฟน์ ที่น้ำตาล 0% เจาะ “ผู้หญิง” จากเดิมตลาดเน้นกลุ่มเป้าหมาย “ผู้ชาย” 2.การขยายตลาดให้กว้าง ทั้งเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล ซีวิท ผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไปให้มากขึ้น รวมทั้งผลิตขนาดใหญ่ 1 ลิตร รับไลฟ์สไตล์อยู่บ้านทำงานที่บ้าน ที่สำคัญ “ราคาประหยัดขึ้น 20-30%” เมื่อเทียบแบบขวด หวังรับอำนาจซื้อผู้บริโภคที่เปราะบาง รวมถึงออกซีวิทเอาใจคนรักสวยงาม เป็นต้น
ส่วนสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล เบบี้มายด์ มีการออกสินค้าใหม่ “ยาสีฟันสำหรับเด็ก” ที่รักษ์โลก เพราะบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ หวังรองรับตลาดฟื้นตัวไตรมาส 4 หรือต้นปี 2565 แบรนด์โบตันในตำนานแตกพอร์ตโฟลิโอสู่ “ยาสีฟัน” เพื่อขายช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
3.การผนึกพันธมิตรเสริมแกร่ง ซึ่งปีนี้เห็นการจับมือ “ยันฮี” กระจายสินค้าน้ำผสมวิตามิน และจะรุกผลิตสินค้ากัญชากัญชง แบรนด์เอ็ม-150 ควง “ปูนตราเสือ” ปั๊มยอดขาย ผนึก “เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส” ส่งสินค้าถึงบ้าน เห็นการซื้อกิจการ “Innovation of Experience : IEX” เสริมทัพดิจิทัลรอบด้าน ทั้งการตลาด และเป็นแหล่ง “สร้างรายได้” ให้บริษัทเพิ่ม
ทั้งนี้ การหาพันธมิตรยังต้องการเพิ่ม เพื่อซีนเนอร์ยี ธุรกิจทั้งลดต้นทุน เพิ่มทักษะความรู้ความสามารถใหม่ๆ การลุยดิจิทัล ผลักดันให้ธุรกิจ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย 4.สานต่อโปรเจค Fit Fast Firm ในปี 2564 บริษัทจะประหยัดต้นทุนให้ได้ 1,000 ล้านบาท สานเป้าหมาย 5 ปี ที่ 2,500 ล้านบาท การคุมเข้มต้นทุนจึงไปอยู่ภาคการผลิต วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ทำงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยืดหยุ่น สินค้าเครื่องดื่มต้องปรับสูตรเพื่อสุขภาพ “น้ำตาล 0%” ไม่เพียงเป็นทางเลือกสุขภาพ แต่จะได้ประโยชน์เซฟเงินภาษีสรรพสามิตรความหวานด้วย และ5.ภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งวางโร้ดแม็ปไว้ถึง 2568
“5 เรื่องที่บริษัทจะทำเพื่อสร้าางการเติบโตของอัตรากำไรเป็นตัวเลข 2 หลัก” อย่างไรก็ตาม ความท้าทายการทำธุรกิจ ต้องยกให้โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งต้องเกาะติดทิศทางในเดือนพ.ค.และมิ.ย.นี้
++เถ้าแก่น้อย กอบกู้ธุรกิจพ้นปากเหว!
เดินหมากแก้โจทย์ธุรกิจครั้งสำคัญ หลังจากโควิด-19 กวาดนักท่องเที่ยว “จีน” หายวับไปกับตา ธุรกิจขนมขบเคี้ยว(Snack)ประเภทสาหร่ายแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ นักเดินทางแดนมังกรหอบหิ้วซื้อเป็นของฝากยกลัง แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ภาพตรงกันข้าม เพราะไร้เงานักท่องเที่ยว จนร้าน “เถ้าแก่น้อยแลนด์” ที่มีหลายสาขาต้อง “ปิดตัวเกือบหมด” ล่าสุดคงไว้เพียง 1 สาขาเท่านั้น
ส่วนตัวเลขผลประกอบการไตรมาสแรก บริษัทมีรายได้ 931.41ล้านบาท ลดลง 17 % เทียบช่วงเดียวปีก่อน ส่วน กำไรสุทธิ 56.20 ล้านบาท ยังคงลดลง34% แต่ภาพรวมตลาดในประเทศหดตัวน้อยลงที่ 3.1% ส่วนตลาดต่างประเทศยังดิ่ง 25%
ทั้งนี้ ภาพรวมบริษัทมี “ชานมจัสท์ดริ้งค์” เป็นสินค้าพระเอกขี่ม้าขาวมากู้วิกฤติให้ติดลบเบาบางลง เพราะปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตป้อนร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” 12,000 สาขาทั่วไทยได้แล้ว
จัสท์ดริ้งค์ พอร์ตสินค้าใหม่ที่มาแรง เปิดตัวไม่นานทำยอดขายกว่า 6 ล้านขวด หรือคิดเป็นกว่า 100 ล้านบาท แต่ปีนี้ บริษัทจะผลักดันให้ขาย 2 ล้านขวดต่อเดือน ทำเงิน 300-400 ล้านบาท
ตกอยูในห้วงวิกฤติ แต่ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ยังมองโมเมนตัมข้ามช็อตไปครึ่งปีหลังว่ายังมี “โอกาส” รออยู่ แต่สถานการณ์โควิด-19 ต้องคลี่คลายเมื่อ “คนไทยได้รับการฉีดวัคซีน” เป็นภูมิคุ้มกันไวรัส และยังช่วยสร้างภูมิให้ธุรกิจด้วย
เถ้าแก่น้อยกระทบมากเพราะพึ่งพาขุมทรัพย์นักเดินทาง และการฟื้นธุรกิจ จะมีแค่ “จัสท์ดริ้งค์” ไม่พอ ปี 2564 จึงเตรียมออกสินค้าใหม่ทั้งสาหร่าย 2-3 รายการ ในนี้จะมีสินค้าเดิมลุยโปรเจคใหญ่ “ระดับภูมิภาค” ทำตลาดร่วมกับพันธมิตรด้วย ส่วนจัสท์ดริ้งค์จะมีสินค้าใหม่ 2-3 รายการเสริมทัพเช่นกัน
ตลาดจีนซึ่งเป็นสัดส่วนทำเงินถึง 39% เถ้าแก่น้อยมีส่วนแบ่งตลาด 10% ของสแน็คสาหร่าย โดยมีของเลียนแบบ 3% มาแย่งโอกาส ปีนี้จะเห็นการ “ปรับตัว” ทำตลาด สางปัญหาที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจและแก้โจทย์กับพันธมิตร เพื่อบุกตลาดห้างค้าปลีก ร้านค้าทั่วไป และออนไลน์ ซึ่งบริษัทยังมียอดขายต่ำ
“หากแก้ปัญหาถูกจุด คาดว่ายอดขายสาหร่ายเถ้าแก่น้อยในจีนจะกลับมา แต่ต้องดูโรคระบาดด้วย รวมถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกสินค้า”
ปีนี้อีกหัวหอกทำตลาดคือ Bomber Dog ร้านอาหารริมทางหรือ Street food จากแดนโสมจะลุยขยายแฟรนไชส์สร้างการเติบโต ส่วนร้านอาหาร “ฮิโนยะ” จะพิจารณา “ปิดสาขา” ในห้างที่ไม่สร้างยอดขาย และการลุยสินค้ากัญชากัญชง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในหัวใจสำคัญของการแก้วิกฤติธุรกิจคือการรวมโรงงานผลิตสาหร่ายจากมาอยู่ที่โรจนะ คาดแล้วเสร็จเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ จะทำให้บริษัทผลิตสินค้าเต็มกำลัง เกิดการประหยัดจากขนาด(Economy of scale) ลดต้นทุนคงที่ ระยะยาวจะมีผลต่อ “กำไร” ที่ดีขึ้นนั่นเอง
“ร้านอาหารภาพรวมค่อนข้างแย่มาก เพราะมาตรการระยะห่างนั่งในร้าน ทำให้ยอดขายหาย 70-80% บริษัทจึงบริหารต้นทุนคงที่ ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เล็กลง สาขาไหนแนวดน้มยอดขายไม่ดี อยู่ในห้าต้องปิด และยังมองธุรกิจใหม่ดันแฟรนเชส์ Bomber Dog เพราะต้นทุนต่ำ กำไรดี ขยายง่าย เศรษฐกิจแบบนี้เราต้องดูแลต้นทุนคงที่ไม่ให้เพิ่ม นี่คือหัวใจสำคัญ”
แผนดังกล่าว บริษัทหวังสร้างรายได้ 4,100-4,300 ล้านบาทท ภายใต้การจำลองสถานการณ์ไม่มีเซอร์ไพรส์จากโควิดระบาดอีกระลอก
++แพลนบี ลุ้นอุตฯโฆษณาฟื้น V-Shape
เมื่อเกิดเหตุการณ์เปราะบางทั้งเศรษฐกิจหดตัว การเมืองป่วน โรคระบาด “อุตสาหกรรมโฆษณา” เป็นหน้าด่านถูก “หั่นงบ” ลูกค้าเบรกและเลื่อนสื่อสารการตลาดทันที ยิ่งกว่านั้น “สื่อนอกบ้าน” อ่อนไหวมาก เพราะมีผลต่อการเห็นของผู้บริโภคหรือ eyeball โดยปริยาย
บมจ.แพลนบี มีเดีย พี่เบิ้ม 1 ใน 3 ของสื่อโฆษณานอกบ้าน เจอผลกระทบพอสมควร ภัครดา นิธิวรรณกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท หยิบข้อมูลอุตสาหรรมโฆษณาจากนีลเส็น ที่คาดการณ์ปี 2564 มูลค่าจะแตะ 109,310 ล้านบาท เติบโต 3% แต่ 4 เดือนแรก เงินสะพัดเพียง 26,701 ล้านบาท หดตัว 4% โดยไตรมาสแรกสื่อโฆษณานอกบ้านมูลค้า 2,632 ล้านบาท หดตัว 19%
แพลนบี มีลูกค้าหลากหลายอตสาหกรรม แต่กลุ่มใหญ่คืออาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ เทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค การเงินและประกันฯ ลูกค้าทั้ง 5 หมวดยังคอนเฟิร์มใช้จ่ายเงินโฆษณา แม้จะอ่อนตัวลงก็ตาม แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นจะเห็นการกลับมาใช้เงินอีกครั้ง
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ไตรมาสแรกอยู่ที่ 1,024 ล้าน โต 6.2% เพราะมีการรับรู้รายจากธุรกิจการตลาดและมีส่วนร่วม อย่งการรับรู้ได้จากงานโตเกียว โอลิมปิก 151 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ 187 ล้านบาท ลดลง 18.2% ทั้งนี้รายได้หลักของบริษัทมาจากสื่อโฆษณานอกบ้าน 74% และจากธุรกิจการตลาดและมีส่วนร่วม 26%
สำหรับไฮไลท์การทำธุรกิจสื่อโฆษณาปีนี้ บริษัทการณ์จะฟื้นตัวแบบ V-Shape ทยานไปสู่เป้าหมาย 5000-5400 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ขับเคลื่อนสู่การเติบโตจะมีการลงทุน 700-1,000 ล้านบาท ขยายสื่อโฆษณาหรือติดตั้งจอแอลอีดีในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นให้ครบ 2,000 สาขา ในส่วนนี้มีการปรับแผนงาน เดิม 1,500 สาขาแรกต้องติดตั้งให้เสร็จไตรมาส 1 แต่ต้องชะลอและเลื่อนไปเป็นไตรมาส 2-3 และเงินบางส่วนจะนำไปปรับปรุงจอแอลอีดีเดิม
ปี 2021 โตเกียว โอลิมปิค ต้องเดินหน้าจัดให้ได้ หากเป็นไปตามแผน แพลนบีในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์บริหารสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทอดสด จะรับรู้รายได้เพิ่มอีกกว่า 300 ล้านบาท สายเป้าทั้งปี 500 ล้านบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโฆษณาที่ยังซบเซา บริษัทมีการลดค่าโฆษณาเพียง 10-20% โดยยังใช้กลยุทธ์เดิมคือให้ลูกค้าได้พื้นที่สื่อโฆษณาเพิ่ม เพื่อให้ใช้พื้นที่สื่อเต็มที่(capacity)จากไตรมาสแรกใช้ไปเพียง 40.5%
“สื่อโฆษณาจะกลับเข้าสุ่ภาวะปกติหรือไม ขึ้นอยู่กับการภาวะเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนให้ประชาชน จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด V-Shape”