อุตฯพัฒนาคนและการศึกษา ในEEC: แนวทางการขับเคลื่อน
หากพูดถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC หลายคนคงนึกถึง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีความต้องการกำลังคนที่หลากหลายและมีคุณภาพ ที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายได้
หากพูดถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC หลายคนคงนึกถึง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีความต้องการกำลังคนที่หลากหลายและมีคุณภาพ ที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ซึ่งจากการสำรวจความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้าของ อีอีซี พบว่ามีความต้องการแรงงานมากกว่า 4.7 แสนตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการทำงานในประเทศไทยสูงมากทีเดียว
โดยไทยสูงเป็นอันดับ 14 จาก 82 ประเทศ จากการจัดอันดับประเทศด้านโอกาสในการทำงาน (Social Mobility Index, 2563)เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตัวที่ 12 ของ อีอีซี เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้
การส่งเสริมอุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาของ อีอีซี เห็นได้ชัดจากการวางแผนงบประมาณในปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมงบประมาณรายจ่าย 3,043 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
อุตสาหกรรมนี้ทำอะไรบ้าง? การดำเนินงานในอุตสาหกรรมนี้ทำได้หลากหลาย ทั้งการผลิตบุคลากรเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานและการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเพื่อให้มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งในแผนการดำเนินงานของ อีอีซี ก็มีการจัดสรรงบประมาณออกเป็น 3 ส่วน ทั้งการผลิตและพัฒนาบุคลากร การพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในอาชีพ การพัฒนาบุคลากรและเยาวชนในระบบการศึกษา ซึ่งมีความครอบคลุมทีเดียว
ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดคือการเตรียมคนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะสั้น แบบพร้อมใช้ โดยมุ่งเน้นที่หลักสูตรระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เช่น มหาวิทยาลัยอมตะ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรม Intelligent Manufacturing System สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) จากสหรัฐ เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม การเน้นที่ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาอาจไม่เพียงพอต่อการเตรียมคนให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการพัฒนาคนเป็นการดำเนินงานระยะยาว ดังนั้นควรส่งเสริมการพัฒนากลุ่มเยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากขึ้นด้วย แม้ว่าเด็กและเยาวชนในวัยนี้จะยังไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้โดยตรง แต่ควรได้รับการสร้างเสริมทักษะและสมรรถนะที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้การพัฒนาคนเป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกันตลอดแนว
นอกจากนี้ยังพบการรายงานการส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาจากสถาบันเอกชนของต่างประเทศ เช่น สถาบันเลส์โรช (Les Roches) จากสวิตเซอร์แลนด์เปิดสอนหลักสูตรสาขาการจัดการ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการยกระดับการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี ควรส่งเสริมการลงทุนที่หลากหลายครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของการดำเนินงานอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เกิดทางเลือกที่หลากหลายในการผลิตและพัฒนาบุคลากร และสามารถพัฒนาแรงงานได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรขยายการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาจากภาคเอกชนในประเทศมากขึ้น ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา
อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา อีอีซี หากดำเนินการส่งเสริมอย่างครอบคลุมและมีระบบ จะสร้างผลกระทบได้อย่างน่าสนใจ