จีพีเอสซี ผนึก ซีเอชพีพี บุกขายทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ
GPSC จับมือ CHPP บุกทำตลาดเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์ G Float นวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ เจาะตลาด กลุ่มโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หนุนไทยรับเทรนด์พลังงานสะอาด พัฒนาสู่อุตสาหกรรม New S-Curve ดันเพิ่มกำลังผลิตพลังงานทดแทนแตะ 8,000 เมกะวัตต์
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เปิดเผยว่า CHPP ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด G Float และได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ New Normal เป็นครั้งแรกของไทย เป็นนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่พร้อมดำเนินการในเชิงพาณิชย์เพื่อใช้สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (FloatingPV System) ป้อนสู่กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำบนแหล่งน้ำขนาดใหญ่
“G Float เป็นเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐานและความปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และGPSC ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมพลังงานสู่การสร้างสรรค์อนาคตด้วยแนวคิด Smart Energy for Evolving life ที่จะรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรม New S-Curve รองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพลังงานโลก”
ทั้งนี้ GPSC ได้เดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ผ่านการดำเนินงานของ CHPP (ถือหุ้น 100% โดย GPSC) ที่จะเป็นหน่วยธุรกิจหลักที่สำคัญ ในการนำนวัตกรรมพลังงานมาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าภายใต้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแตะ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 หรือ คิดเป็นสัดส่วน 30% ในพอร์ตโฟริโอ ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 5,000 เมกะวัตต์
การพัฒนานวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ได้ผ่านการพัฒนา และออกแบบที่มีจุดเด่นให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการติดตั้งแผงโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำที่ใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติก(HighDensity Polyethylene หรือ โพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทาน สามารถผสมสารป้องกัน UV และขึ้นรูปได้ง่ายเพื่อผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานยาวนาน
ทั้งนี้ CHPP ได้มีการออกแบบจุดยึดของทุ่นโซลาร์ เพื่อให้มีความแข็งแรงทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งกระแสคลื่นและลมได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ทุ่นลอยน้ำมีความมั่นคงและไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าการออกแบบยังได้คำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วในการประกอบทุ่นและง่ายต่อการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ซึ่ง G Float ยังได้ออกแบบให้สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์ขนาดมาตรฐานจนถึงขนาดใหญ่เพื่อรองรับกับแผงโซลาร์ที่จะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักที่มากขึ้น มีอายุการใช้งานของวัสดุยาวนานถึง 25 ปี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้น้ำ ผ่านการทดสอบ Food Contact ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA)
นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้ถูกนำไปใช้แล้วในโครงการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วต่างๆก่อนหน้านี้ เช่น โครงการเมืองอัจฉริยะ ให้กับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาและโซลาร์ลอยน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(อยู่ระหว่างการดำเนินการ) โดยการผสานนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ (SmartEnergy) ทั้ง BESS, Peer-to-Peer Energy Trading และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงโครงการความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (FloatingSolar on sea) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองจังหวัดระยอง เป็นต้น