'Netflix' อุตสาหกรรมทีวีเปลี่ยน เพราะ 'เทคโนโลยี'
จับตา "Netflix" ผู้ให้บริการทีวีสตรีมมิ่งที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก ที่ปัจจุบันเข้ามาเปลี่ยนทิศอุตสาหกรรมทีวี และยังพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่มงบด้านงานวิจัยถึงปีละ 1,800 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเอไอ
เรามักเห็นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ออกมาจาก Netflix ประจำ
สำหรับในประเทศไทย Statista.com ประมาณการสมาชิกปี 2020 จำนวน 546,340 ราย เพิ่มจากปี 2017 ที่มีเพียง 105,650 ราย ซึ่งปัจจุบันสมาชิกจะจ่ายค่าบริการผ่านตัวแทนในไทย หรือจำนวนหนึ่งจ่ายตรงไปยัง Netflix ผมเป็นสมาชิก Netflix มานานกว่า 7 ปี ซึ่งดูจากอุปกรณ์ใดก็ได้และมีรายการภาพยนตร์ ซีรีย์หลายเรื่องที่ตรงความต้องการมากกว่า และถ้าจะดูถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาก็จ่ายแบบเฉพาะรายการก็ทำได้
Netflix เป็นบริษัทเล็กๆ ก่อตั้งปี 1997 เพื่อให้บริการเช่า DVD โดยเป็นแบบจ่ายค่าสมาชิกแล้วให้เลือกเช่าออนไลน์พร้อมส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งยุคนั้นเจ้าตลาด คือ Blockbuster ก่อนที่ Netflix จะมาทำบริการสตรีมมิ่งอย่างเต็มตัว และในปี 2020 บริษัทสามารถทำรายได้ถึง 24,996 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 2,761 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีจำนวน 1,867 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งคงเพราะวิกฤตโควิดคนอยู่บ้านมากขึ้น จึงเลือกดูทีวีมากขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ผลประกอบการและจำนวนสมาชิกของ Netflix หรือบริการทีวีสตรีมมิ่งอื่นๆ จะบอกว่าธุรกิจทีวีและบันเทิงเป็นขาลงเพราะคนเลิกดูทีวี คงไม่ใช่ เนื่องจากรายได้กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ยังดีขึ้นเรื่อยๆ ที่เห็นชัด คือ รับชมช่องทีวีแบบเดิม กำลังเกิดการล่มสลายเพราะเทคโนโลยี (Technology Disruption) และผู้อยู่รอดได้ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล (Digital transformation) เช่นกลุ่มทีวีสตรีมมิ่ง
ความสำเร็จของ Netflix ไม่ได้อยู่แค่การมีรายการภาพยนตร์ สารคดี หรือซีรีย์ที่ดีกว่า แต่ส่วนหลักมาจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และลงทุนทำวิจัยจริงจัง เมื่อเทียบจำนวนภาพยนตร์และรายการต่างๆ ในปี 2020 แล้วกลับพบว่า Amazon มีจำนวนสูงสุดคือมีถึง 26,397 รายการ โดย Netflix มีเพียง 5,451 รายการ
แต่สิ่งที่ Netflix ทำได้ดีคือเรื่องของการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า สามารถแนะนำรายการให้ลูกค้าได้ดี และมีระบบเอไอที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดหาภาพยนตร์ หรือแม้แต่จะจัดสร้างภาพยนตร์ หรือซีรีย์ให้ตรงความต้องการของผู้ชมได้
Netflix มีข้อมูลขนาดใหญ่มาก (Big Data) เก็บข้อมูลผู้ชมรายการทั้งหมด ตั้งแต่จังหวะที่ผู้ชมล็อกอินเข้ามา ว่ามาจากอุปกรณ์ใด พื้นที่ใด เลือกดูรายการอะไร ระหว่างชม กดหยุดหรือไม่ หรือกดย้อนหลัง กดข้าม ด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ทำให้ Netflix นำมาทำระบบเอไอได้ ซึ่ง Netflix มีทีมงานด้านนี้อยู่มาก ทั้งที่เป็นวิศวกรข้อมูล และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และมีงานที่มอบหมายไปแต่ละด้าน เช่น พนักงานบางคนมีงานหลักที่จะปรับหน้าจอและนำเสนอรายการให้ตรงใจลูกค้า
ในปี 2020 ทาง Netflix ทุ่มด้านงานวิจัยถึงปีละ 1,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเรามักเห็นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ออกมาจากทาง Netflix ประจำ โดยเฉพาะงานทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเอไอ
ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปมาก จำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี และต้องทำวิจัยโดยเฉพาะการนำเรื่องเอไอไปใช้ วันนี้บริษัทต่างๆ จะทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีจึงจะกลายเป็นผู้นำในยุคนี้ได้เหมือนเช่น Netflix