กนอ. เผย ญี่ปุ่นสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่นิคมฯสมาร์ทปาร์ค ในเขต อีอีซี

กนอ. เผย ญี่ปุ่นสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่นิคมฯสมาร์ทปาร์ค ในเขต อีอีซี

“วีริศ” เผยข่าวดีนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เล็งตั้งโรงงานที่ใช้พลังงานผลิตไฟฟ้าทางเลือกและพลังงานแสงอาทิตย์ สอดรับโครงการจัดหาพลังงานสะอาดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแบบออนไลน์ด้วยระบบ Zoom ร่วมกับผู้แทนบริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอนจิเนียริ่ง แอนด์  แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM), บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท คันไซ อีเล็คทริค พาวเวอร์ คอร์เปอเรชั่น, บริษัท คันไซ เอนเนอร์จี โซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า ทูโช เอ็ม แอนด์ อี (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โอซาก้า แก๊ส จำกัด ภายใต้การประสานงานของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ว่า บริษัทฯ ที่เข้าร่วมประชุมฯ มีความสนใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่นิคมฯสมาร์ท ปาร์ค อ.มาบตาพุด จ.ระยอง โดยเฉพาะการตั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากไฮโดรเจน  ขณะเดียวกันทางกระทรวงเมติ และ กนอ.จะตั้งคณะกรรมการฯร่วมกันขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral Industrial Estate) โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และนำเอาพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้แทน โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นภายในปีนี้

นอกจากนี้ในที่ประชุมฯ ได้มีการหารือร่วมกันถึงโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลังงานสะอาดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งในแง่ของการศึกษาเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสะอาด โดยการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และศึกษาพัฒนาการลงทุนโครงการโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Business) และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่จะส่งเสริมการพัฒนาแห่งอนาคตอย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และจีน ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2603 และญี่ปุ่นที่เพิ่งจะประกาศ Carbon Neutral by 2050 คือ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ในปี 2593 ดังนั้นทางรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการยกระดับประเทศให้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาได้พยายามเสนอมาตรการการเงิน มาตรการภาษี และการผลักดันต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ดังนั้นไทยจะนำแนวทางดังกล่าวมาเป็นโมเดลจัดทำแผนลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สอดรับกับทิศทางพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับพลังงานทางเลือก หรือพลังงานสะอาด คือ พลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต แปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และจัดการของเสียจากการแปรรูปพลังงานนั้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยทุกขั้นตอนจะต้องทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการภาวะโลกร้อน