‘GULF-RATCH’รุกธุรกิจใหม่ต่อยอดการเติบโต
“โรงไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง จากสัญญาซื้อขายไฟที่ได้ทำไว้กับผู้รับซื้อ จึงช่วยการันตีได้เลยว่าจะมีรายได้เข้ามาแน่นอน ไม่ว่าสถานการณ์ขณะนั้นจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี
แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งเรื่องสถานที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ทำให้การเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าเริ่มจำกัด
จึงเป็นเหตุผลให้หลายบริษัท ตัดสินใจขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ มีตั้งแต่ธุรกิจที่ยังต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้า ไปจนถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจแล้ว อีกมุมยังช่วยกระจายความเสี่ยง
อย่างพี่ใหญ่ประจำกลุ่ม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของ “เสี่ยกลาง” สารัชถ์ รัตนาวะดี กระโดดเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน แม้ไม่ใช่งานถนัด ไม่เคยทำมาก่อน แต่ไม่มีหวั่น เพราะอาศัยกลยุทธ์เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ
ทั้งการควงแขนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คว้า 2 บิ๊กโปรเจค โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี อย่างท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เฟส 3 นอกจากนี้ ยังปิดดีลได้งานก่อสร้างมอเตอร์เวย์ มาอีก 2 สาย ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)
โดยเป็นการร่วมพลังของ 4 พันธมิตรบิ๊กเนม ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้า บีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือหุ้น 40%, GULF ถือหุ้น 40%, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 10% และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 10%
ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 สัดส่วนรายได้ของบริษัทเมื่อแบ่งตามประเภทธุรกิจ แน่นอนว่ารายได้หลักยังมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 69.6%, ธุรกิจพลังงานทดแทน 19.3%, ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า 2.6%, รายได้ค่าบริหารจัดการ 1.1% ขณะที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอยู่ที่ 0.4% และรายได้อื่นๆ 7%
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ที่ 10-20% ของรายได้รวม ซึ่งอีกหนึ่งดีลที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากและจะมีส่วนสำคัญในการนำพาบริษัทไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ คือ การทุ่มงบลงทุนกว่า 1.69 แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH สัดส่วน 81.07% เพื่อสยายปีกด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
หันไปดูอีกหนึ่งบริษัทที่เดินตามกันมาติดๆ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ผ่านพันธมิตรที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่น ประเดิมด้วยการจับมือกับ BTS และ STEC ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) โดยบริษัทถือหุ้น 10% คว้างานใหญ่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
แถมยังจับมือกับ 2 พันธมิตรเดิม BTS และ STEC พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรใหม่ GULF ภายใต้กิจการร่วมค้า BGSR รับงานมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม โดยบริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 สัดส่วนรายได้จากงานสาธารณูปโภคพื้นฐานจะอยู่ที่ 20% ของรายได้รวม
ส่วนดีลล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย คือ การทุ่มงบกว่า 1.55 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทที่กระโดดข้ามจากธุรกิจไฟฟ้าไปยังธุรกิจโรงพยาบาล บริการด้านสุขภาพ ที่แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าเลย แต่ก็มองว่ามีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของเมืองไทยที่มองว่าการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ จากภายนอก (Inorganic Growth) ควบคู่ไปด้วย