'นักวิชาการ' ชี้ 'วัคซีนโควิด' คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าจ่ายเงินเยียวยา 

 'นักวิชาการ' ชี้ 'วัคซีนโควิด' คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าจ่ายเงินเยียวยา 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 1 ปีทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินทั้งเงินกู้ และเงินงบประมาณในการดูแล รักษา ผู้ป่วยโควิด และจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นวงเงินรวมกันกว่าล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามในมุมนักวิชาการมองว่าวัคซีนเป็นคำตอบที่ดีกว่า

“วัคซีน”ถือเป็นความหวังสำคัญของการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป หากสามารถที่จะกระจายวัคซีนได้มากและรวดเร็วในปริมาณที่เกิน 70 %ของประชากรจนเกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ในประเทศจะทำให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดให้ “วัคซีน” เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีนี้ โดยเน้นที่การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง และการเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนในการรับการฉีดวัคซีน โดยมีเป้าหมายว่าประชาชน 75% จะได้รับวัคซีนภายในปี 2564 

โดยข้อดีของวัคซีนโควิดที่มีการฉีดในปริมาณที่มากพอจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินได้ การผ่อนคลายมาตรการต่างๆหลังจากควบคุมการระบาดจะทำได้มากขึ้นซึ่งหมายความว่าวงเงินที่ภาครัฐจะต้องจ่ายในการเยียวยาประชาก็จะลดลงด้วย วัคซีนจึงมีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์เพราะนอกจากจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จะลดภาระทางงบประมาณที่ต้องใช้เงินในการเยียวยาประชาชนหลังการระบาดแต่ละระลอกของโควิด-19 ของรัฐบาลให้ลดลง 

162218152574

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละระลอกรัฐบาลใช้เงินในการเยียวยา จ่ายเงินให้กับประชาชนแสนล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐแบกรับในเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 สูงมากถึงประมาณรายละ 1 ล้านบาท ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด -19 มีค่าใช้จ่ายที่ประชาชนหรือภาครัฐต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อราย 

ส่วนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนให้กับคนทั่วประเทศเมื่อคิดตามราคาต้นทุนวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าที่เป็นวัคซีนหลักที่คนไทยจะได้ฉีดอยู่ที่ประมาณ 240 บาทต่อคน (2โดส) ซึ่งเมื่อคูณจำนวนประชากร 70 ล้านคน คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 2 - 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จะเห็นว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าการรักษาผู้ป่วยและการเยียวยาประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้หากมีการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วในปริมาณที่มากพอความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติได้มากขึ้น และด้วยขนาดประชากรประมาณ 70 ล้านคนของประเทศไทยสามารถที่จะพึ่งพาการขับเคลื่อนการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวในประเทศได้ในระดับหนึ่งซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

“หากมีการฉีดวัคซีนที่มากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภาครัฐก็จะลดภาระในเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงได้ ดังนั้นในเรื่องการลงทุนเรื่องการฉีดวัคซีนจึงมีผลดีทั้งเรื่องสาธารณสุขและผลดีต่อการช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้นด้วย” 

 

162218148474

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนมีความคุ้มค่ามากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ หากภาครัฐเลือกซื้อวัคซีนในราคาประมาณ 1,500 บาทต่อโดส ฉีดให้กับประชากร 70 ล้านคนครบ 140 ล้านโดส หรือจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรทุกคน ก็จะใช้งบประมาณไม่เกิน 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งแตกต่างกับการใช้เงินในการเยียวยาที่ต้องแจกเงินจำนวนมากครั้งละ 2 - 3 แสนล้านบาทเพื่อพยุงเศรษฐกิจซึ่งการระบาดแต่ละครั้งใช้เงินจำนวนมาก และเมื่อฉีดวัคซีนได้น้อยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก 

"การออก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินฯ ล่าสุดที่เป็นการกู้ฉุกเฉินล่าสุด ภาครัฐยังเลือกจะกู้มากถึง 5  แสนล้าน ซึ่ง 3.3 แสนล้าน เป็นงบประมาณที่ใช้ในด้านสาธารณสุขและการเยียวยา ทำให้เห็นว่าถ้าเลือกฉีดวัคซีนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะใช้เงินน้อยกว่ามีประสิทธิภาพในการฟื้นเศรษฐกิจ และใช้งบประมาณน้อยกว่าในการรักษาและเยียวยาประชาชนจากโควิด"นายนณริฏ กล่าว