สกพอ.ระดมสมองแก้วิกฤติ ดึงลงทุน6แสนล.ดันจีดีพี5%
วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาประเทศสะดุด และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง สกพอ. จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ “ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทย ใน 5 ปีข้างหน้า” เพื่อระดมสมองวางแผนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้กระทบต่ออัตราการเติบโตของประเทศ ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย เสนาะ อูนากูล ได้ระบุว่า ในการผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ในระยะ 10 ปี ข้างหน้า โดยใน 5% นี้ จะมาจากการขยายตัวตามปกติ 3% จากการปรับตัวของรัฐไปสู่ E-government 0.5% จากการสะสางกฎหมายและระเบียบที่ล้าสมัย 0.5% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านแหล่งน้ำ 0.5% และการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 0.5% ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ ยุติธรรม เจริญทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล
โดย ปัจจัยหลักที่จะผลักดันแผนฯ13 ให้สำเร็จ จะประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในด้านการปรับสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ปรับปรุงการขนส่งที่ทันสมัยเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่ม ซีแอลเอ็มวีที และอาเซียน พัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ด้าน 5จี และโครงสร้างด้านน้ำ พัฒนาพลังงานสะอาดยั่งยืน สร้างคนให้มีพร้เอมทั้งจำนวนและความสามารถ
2.พัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลโดยการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเมืองกับชนบท ปรับโครงสร้างภาคการเกษตรและสร้างธุรกิจชุมชน พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็สอี แก้หนี้ภาคประชาชน แก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ยกระดับด้านสุขภาพและสาธารณสุข สนับสนุนประชาสังคมและยุติธรรม การบริหารจัดการน้ำ ผลักดันเศรษฐกิจบีซีจี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็น Sand Box ในการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปฏิรูประบบกฎหมาย ผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล ภายใน 5 ปี และปฏิรูปการบริหารจัดการ และ3. การพัฒนาเชิงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิศษอีสานเข้าสู่ประเทศลาวและจีน
นอกจากนี้ จะต้องพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ผ่านทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , การแพทย์สุขภาพครบวงจร , ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า , การท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและยั่งยืน , การเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และเป็นประตูการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ด้านสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค รัฐบาลจะต้องสร้างเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เติบโตอย่างน่อเนื่อง พื้นที่และเมืองมีความเจริญทันสมัย และน่าอยู่ รวมทั้งมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และได้รับการความคุ้มครองจากสังคมเพียงพอ ด้านปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ จะต้องสร้างกำลังคนที่มีสรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และภาครัฐมีสมรรถนะสูง ด้านวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
“ไทยต้องรีบชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อดึงให้จีดีพีเติบโต 4-5% จะต้องมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 6 แสนล้านบาท โดยในแผนฯ 13 มีการสร้างกลไกการดึงดูดเม็ดเงินดังกล่าวจากการลงทุนโดยตรงต่างประเทศ และการลงทุนจากภาคเอกชน และงบประมาณภาครัฐ ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับการผลิต”
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วหรือช้า คือการกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งเป็นเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 เป็นไปตามแผนล่าสุดที่วางไว้ จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในเดือนก.พ. 2565 จะทำให้ จีดีพีไทยในปี 2564 ขยายตัว 2% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านคน ในปี 2565 จีดีพี จะขยายตัว 4.7% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคน กรณีที่ 2 การฉีดวัคซีนตามแผนแรก จะทำให้เกิดภูมิกันหมู่ในเดือนส.ค. 2565 จะทำให้ จีดีพี ในปี 2564 ขยายตัว 1.5% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน และในปี 2565 จีดีพีจะขยายตัว 2.8% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน และกรณีที่ 3 การฉีดวัคซีนล่าช้าจะ เป็นกรณีเลวร้ายที่สุดทำให้เกิดภูมิกันหมู่ได้ในเดือนธ.ค. 2565 จะทำให้จีดีพีในปี 2564 จีดีพีขยายตัว 1% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 แสนคน และในปี 2565 จีดีพีขยายตัว 1.1% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน
พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในทุกครั้งของวิกฤติเศรษฐกิจโลก จะทำให้มีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ในปี 2541 คนจนเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน ปี 2545 เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านคน วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) 2551 ไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 4 แสนคน วิกฤติสงครามการค้าในปี 2561 มีคนจนเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคน และจากการคาดการณ์ผลจากวิกฤติโควิด-19 ธนาคารโลกได้ประเมินว่าในปี 2563-2564 ไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน
โดยโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อล้ำของไทยรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก 15 จังหวัดที่มีจีดีพีชั้นนำ มีสัดส่วนเป็น 70% ของจีดีพีทั้งประเทศ มีภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และท่องเที่ยวที่เข้มแข็งจะฟื้นตัวได้เร็วหลังโควิด ในขณะที่อีก 62 จังหวัด ที่มีจีดีพีต่ำคิดเป็นสัดส่วน 30% ของทั้งประเทศ จะพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก จะฟื้นตัวได้ช้า