สกพอ.ดันเกษตรมูลค่าสูง หนุนอุตฯอาหารแห่งอนาคต

สกพอ.ดันเกษตรมูลค่าสูง หนุนอุตฯอาหารแห่งอนาคต

อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นกลุ่ม S-curve ที่กำลังดึงดูดเข้าไปลงทุนในเขต อีอีซี และไทยมีศักยภาพด้านนี้สูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทยไปสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมชีวภาพใช้โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยชั้นสูงในอีอีซี

ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การดึงการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารจะเน้นกลุ่มอาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะ (Functional Food) หรืออาหารเสริม อาหารผู้สูงวัย อาหารที่มีโภชนาการสูง ฟู้ดอินกรีเดียนท์ หรือสารปรุงแต่งอาหารที่ต้องใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นสูงที่เพิ่มคุณค่าให้อาหารและมีมูลค่าสูง ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเครื่องสำอาง 

รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรด้วยเทคโนโลยี เช่น เกษตรแม่นยำ ระบบเซ็นเซอร์ โดรน ระบบตลาดสินค้า การทำฟาร์มคุณภาพ ทั้งเกษตรอินทรีย์ การควบคุมความปลอดภัยทางอาหาร และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และการทำวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ

ในขณะที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ อ.วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งมีเขตนวัตกรรมอาหาร (ฟู้ดอินโนโพลิส) และเขตอุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโอโพลิส) และสถาบันการวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการิจัย พัฒนา และการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร และชีวภาพชั้นสูงในการผลิตสารสกัดจากพืชผลการเกษตรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพ 

162220235711

ปัจจัยดังกล่าวทำให้จึงอีอีซีมีจุดแข็งในการตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพชั้นสูง เพราะนักลงทุนที่เข้ามาจะประหยัดต้นทุนในการพัฒนาวิจัยได้มาก สามารถต่อยอดร่วมวิจัยกับสถาบันวิจัยของไทยในการผลิตสินค้าอาหารและชีวภาพใหม่ โดยใช้วัตถุดิบที่มีเป็นจำนวนมากและหลายหลายภายในประเทศ

“รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยในอีอีซีไอ เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่มีเครื่องซินโครตอนชั้นแนวหน้าในเอเชีย-แปซิฟิก ลงทุน 9,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ในกระบวนการทางวิศวกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การวิจัยในระดับโมเลกุล สร้างสารสกัดใหม่ โรงงานสกัดทางชีวภาพ หรือ ไบโอรีไฟเนอรี่ โรงงานผลิตพืชแบบปิด การผลิตสัตว์น้ำสมัยใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยพัฒนานาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะในกลุ่มบีซีจี ทั้งห่วงโซ่การผลิต”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมชีวภาพและเกษตรอาหารชั้นสูงจะเป็นฐานต่อยอดสู่สินค้าเทคโนโลยีสูง โดยกลุ่มเกษตรและอาหารเริ่มตั้งแต่ปรับปรุงพันธุ์ และเกษตรแม่นยำเป็นฐานสู่การผลิตอาหารสุขภาพมูลค่าสูงต่อยอดสู่สารสกัดทางชีวภาพที่เป็นส่วนผสมอาหารมูลค่าสูงในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ 

โดยเริ่มตั้งแต่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ต่อยอดสู่ยาและชีววัตถุสมุนไพร การพัฒนาด้านจีโนมิกส์ไปสู่การแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์แม่นยำ กลุ่มพลังงานและวัสดุชีวภาพ เริ่มจากฐานชีวมวลและวัสดุการเกษตร ต่อยอดสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตวัสดุชีวภาพและสุดท้ายคือการผลิตสารมูลค่าสูง

สำหรับนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายอยู่ในยุโรปเพราะโรงงานไบโอรีไฟเนอรี่ใช้เทคโนโลยียุโรป และยุโรปเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยีอาหาร และชีวภาพที่สำคัญของโลกทำให้มีอุตสาหกรรมอาหาร และชีวภาพชั้นนำ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหลายรายสนใจลงทุนในอีอีซี ซึ่งจะทำให้มีการวิจัยชั้นสูงตามมา และมีอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ของไทยสนใจเข้ามาลงทุนทั้งการผลิตหรือวิจัย ซึ่งอีอีซีไอไม่เพียงแต่สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังช่วยผู้ผลิตอาหารและเครื่องสำอางที่เป็นเอสเอ็มอีในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตด้วย

นอกจากนี้ สกพอ.ยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานอื่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และชีวภาพในพื้นที่อีอีซี 

ทั้งนี้ เพื่อให้การวิจัยพัฒนาไปจนถึงการผลิตสินค้า และการตลาด มีการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ขจัดปัญหาอุปสรรคในการบวนการทั้งห่วงโซ่การผลิตได้รับการแก้ไข มีสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ตรงกับความต้องการ เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

“ที่ผ่านมาไทยส่งออกวัตถุดิบการเกษตรที่มีราคาต่ำออกไปยังประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อผลิตสารสกัด อินกรีเดียนท์ และวัตดุดิบมูลค่าสูง และนำเข้ามาผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบการเกษตรไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากไทยมีเทคโนโลยีเหล่านี้ของตัวเอง มีการผลิตสารสกัดเหล่านี้ได้ภายในประเทศ ก็จะช่วยลมมูลค่าการนำเข้า พึ่งพาตนเองได้ทั้งห่วงโซ่การผลิต และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทยได้อีกเป็นจำนวนมาก และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ จากโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยใน อีอีซี ยังเป็นส่วนำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม และบริการทางการแพทย์ของไทยได้อีกมาก โดยเฉพาะโครงการศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์แห่งชาติ ที่มุ่งรักษา 5 โรคเป้าหมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหายาก ซึ่งศูนย์ฯนี้ได้เริ่มดำเนินการในปี 2564 ในช่วงเริ่มต้นจะใช้ระยะเวลา 5 ปี ทำการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทยจำนวน 5 หมื่นคน โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำไปพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จากนั้นนำไปใช้ในการแปรผลข้อมูลเชิงคลินิก และการบริการให้คำปรึกษาข้อมูลจีโนม 

“โครงการนี้จะยกระดับการแพทย์ของไทยไปสู่การรักษาเฉพาะบุคคลในด้านยีนส์บำบัด การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ใช้ในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม เซลบำบัด ยาชีวภาพและยาที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาในด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และการวิจัยยา”