เงินกู้ 5 แสนล้าน : หนี้ยิ่งท่วม ความคุ้มค่ายิ่งสำคัญ
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจากโควิด 19 ผลกระทบในเรื่องความจำเป็นด้านงบประมาณ และหนี้สาธารณะ
25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจากโควิด 19
หลายท่านอาจไม่อยากให้รัฐบาลกู้ หลายท่านเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะ บทความนี้จะเล่าถึงผลกระทบของเงินกู้ 5 แสนล้าน ในเรื่องความจำเป็นด้านงบประมาณ และหนี้สาธารณะให้ทุกท่านฟัง
ความจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้รัฐต้องกู้อย่างเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุที่รัฐต้องกู้เงิน นอกจากเพราะสถานการณ์โควิดยืดเยื้อกว่าที่คาด เหตุผลสำคัญอีกประการคือ ความตึงตัวของรัฐบาลในการจัดเก็บรายได้ อันเนื่องมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เมื่อส่องดูงบประมาณที่รัฐจัดเก็บได้ พบว่าโควิดกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
-ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 343,575 ล้านบาท คิดเป็น 12.5%
-และคาดว่าในปีงบประมาณ 2564 นี้ การจัดเก็บรายได้ยังคงได้ผลกระทบจากโควิด 19 เช่นกัน ล่าสุด 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 รัฐจัดเก็บ รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปแล้วกว่าแสนล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า การระบาดรอบใหม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโตลดลงเหลือ 2.3% จากเดิมที่คาดว่าโต 2.8%
-การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ต้องใช้เวลา ไม่สามารถใช้ได้ทันที ทั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2565 ที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ก็ใกล้เต็มกรอบวงเงิน กล่าวได้ว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะต้องกู้ อย่างเลี่ยงไม่ได้
เงินกู้เอาไปใช้ทำอะไร
รัฐบาลกำหนดกรอบการใช้เงินกู้ 3 กรอบ ได้แก่
1) ด้านสาธารณสุข แผนงาน/โครงการแก้ปัญหาการระบาดโรคโควิด-19 มูลค่า 30,000 ล้านบาท
2) ด้านเยียวยา เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่า 300,000 ล้านบาท
3) ด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 170,000 ล้านบาท
กระทรวงการคลัง ประเมินว่า เงินกู้รอบนี้จะช่วยกระตุ้น GDP ปี 2564 และ 2565 ได้ 1.5% หรือเฉลี่ยที่ 0.75% ต่อปี
กรอบเงินกู้ทั้ง 3 ด้านใน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เหมือนพ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐออกในปีก่อนทุกประการ หากพิจารณาเชิงประสิทธิภาพผ่านประสบการณ์เงินกู้ 1 ล้านล้าน นับว่าน่าเป็นห่วง
เพราะนอกจากโครงการที่เป็นเงินโอนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนในส่วนเยียวยา อย่างคนละครึ่ง เราชนะ เราไม่ทิ้งกัน ..โครงการอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พบว่าการเบิกจ่ายล่าช้ามาก ณ เม.ย. 2564 งบในส่วนสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เบิกจ่ายต่ำกว่า 30% เสียโอกาสทั้งในการป้องกันโควิด เพิ่มความเสี่ยงแก่แพทย์ พยาบาล ในการปฏิบัติงาน และเสียโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
หนี้สาธารณะกับเงินกู้ 5 แสนล้าน
ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564 ไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างที่ 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็น 54.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
กระทรวงการคลังประเมินว่าเงินกู้ 500,000 ล้านบาทรอบนี้ จะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ เดือน ก.ย. 2564 เพิ่มเป็น 58.56% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ให้ไม่เกิน 60%
หนี้สาธารณะอันตรายแค่ไหน
หลายคนมีข้อสงสัยเรื่องหนี้สาธารณะ ว่าหนี้สาธารณะอันตรายแค่ไหน ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า หนี้สาธารณะก็เหมือนดาบ 2 คม มีทั้งดีและเสีย เปรียบเหมือนเอกชนกู้เงินมาลงทุน ถ้าเป็นโครงการที่ดีให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ เงินกู้นั้นก็คุ้มค่า ถ้าโครงการเจ๊ง หรือให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ เงินกู้นั้นก็ไม่คุ้มค่า
หนี้สาธารณะที่เป็นเงินกู้ของรัฐ ที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบก็เช่นกัน ถ้ารัฐกู้มา ไปลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูง เกิดประโยชน์ในระยะยาว ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจค้าขายได้ ประชาชนมีงานทำ สุดท้ายรัฐบาลเก็บภาษีได้ เงินกู้นั้นก็คุ้มค่า
ในทางกลับกัน ถ้ารัฐนำเงินที่กู้มาไปใช้ในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดประโยชน์น้อย เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน ธุรกิจค้าขายไม่ดีขึ้น คนยังคงตกงาน เงินกู้นั้นก็ไม่คุ้มค่า ในระยะยาวรัฐก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้จากเงินก้อนนี้ ต้องกู้เพิ่ม ไม่ก็ขึ้นภาษี
ดังนั้นหนี้สาธารณะจะดีหรือไม่ดี ขึ้นกับศักยภาพรัฐในการนำเงินกู้ไปใช้ ว่าเกิดประโยชน์เพียงไร
ตัวอย่างเช่น มีงานศึกษาของ IMF ปี 2010 ใช้ข้อมูล 38 ประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ระหว่างปี 1970-2007 พบว่า ถ้าเงินกู้ถูกใช้ในด้านการศึกษา ช่วยให้เด็กเข้าเรียนมากขึ้น ในระยะยาวส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ คุ้มกับต้นทุนของเงินกู้ที่ต้องใช้คืน ..ดังนั้นการใช้เงินกู้อย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อข้อสงสัยว่า หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน 60% น่าเป็นห่วงหรือไม่
หลายประเทศมีหนี้สาธารณะต่อ GDP เกิน 60% ก็ยังอยู่ได้เช่น ญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ ปี 2020 อยู่ที่ 237.6% อิตาลีมี 133.7% สหรัฐอเมริกามี 129% เป็นต้น แต่ที่อยู่ไม่ได้ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปแล้ว เช่น กรีซ มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ 171.4% เรียกว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่บอกว่าดีหรือแย่
ความท้าทายของเงินกู้ 5 แสนล้าน จึงอยู่ที่ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่าประชาชนกำลังเดือดร้อน แต่ยิ่งเงินมีจำกัด ความเดือดร้อนมีมาก ความคุ้มค่ายิ่งเป็นเรื่องสำคัญ
เช่น ในส่วนงบฟื้นฟู ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ทั้งวิธีการ และความเร็ว ในส่วนงบเยียวยา มีความครอบคลุมผู้เดือดร้อนทุกคน ทั้งที่เข้าถึงช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และเข้าไม่ถึง ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทุกขนาด โดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบสูง หรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากเป็นพิเศษ อย่างธุรกิจกลางคืน ธุรกิจท่องเที่ยว
ในส่วนงบสาธารณสุข ต้องเร่งใช้ให้เร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รักษาชีวิตประชาชน ลดความเสี่ยงแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ และประการสำคัญ ยังช่วยลดความจำเป็นในการใช้งบส่วนเยียวยาและฟื้นฟูด้วย
ทุกท่านครับ หนี้สาธารณะเป็นภาระของเราทุกคน เราจึงควรจับตาการใช้เงินกู้และงบประมาณของรัฐ ว่าถูกใช้คุ้มค่าเพียงไร.. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ฐานภาษีของรัฐลดลง รัฐเก็บภาษีได้ต่ำลง ขณะที่รายจ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้หนี้สาธารณะของประเทศในอนาคตลดลงยากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเงินกู้ไม่ได้มาฟรีๆ ..ในอนาคตถ้าไม่ใช่เราที่จ่าย ก็เป็นลูกหลานเราครับ