อุตฯดึง4ค่ายใหญ่รถไฟฟ้าจีน บอร์ดอีวีเล็งผุดแพ็กเกจใหม่หนุน
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้ภาวากรลงทุนก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับค่ายผลิตรถยนต์ชั้นนำของจีน 4 ราย
กับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการลงทุนฝ่ายไทย เพื่อชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับความสนใจในการเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากหลายประเทศ ซึ่งนอกจากค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น และยุโรปที่ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ก็มีความสนใจประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาค่ายรถยนต์รายใหญ่ของจีน 2 ใน 4 ราย ได้แก่ เอ็มจี และเกรทวอลล์มอเตอร์ ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ และขยายไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ทำให้มีไทยเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่จีนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งจากการหารือกับค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนล่าสุดก็ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หากประสบผลสำเร็จก็จะทำให้ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของจีนทั้งหมดเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตป้อนให้กับตลาดอาเซียน ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยอินโดนีเซีย มีความได้เปรียบในเรื่องของแหล่งแร่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ และตลาดขนาดใหญ่ มาเลเซียมีจุดเด่นเรื่องของการรวมกลุ่มของนักธุรกิจชาวจีนมาเลเซียที่แน่นแฟ้น ทำให้มีชุมชนชาวจีนที่พูดภาษาจีนขนาดใหญ่ เวียดนามมีจุดเด่นในเรื่องของหน่วยงานดึงดูดการลงทุนของภาครัฐที่มีอำนาจตัดสินใจได้เต็มที่ในจุดเดียวพร้อมทุ่มสิทธิประโยชน์ให้อย่างเต็มที่ และมีตลาดขนาดใหญ่
ส่วนไทยมีจุดเด่นในเรื่องของแรงงานทักษะฝีมือการผลิตยานยนต์ที่มีทักษะการผลิตมายาวนาน จากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนจากบริษัทรถยนต์ทั่วโลก มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง หากมาลงทุนในไทยก็มีผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานพร้อมในทุกด้าน และจุดเด่นที่สำคัญที่ทำให้ไทยเหนือกว่าทุกประเทศในอาเซียน ก็คือ ตลาดบริโภครถยนต์ภายในประเทศขนาดใหญ่ มีการซื้อรถยนต์ใหม่กว่า 1 ล้านคันต่อปี สูงกว่าประเทศอื่นอยู่มาก เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซียที่มียอดซื้อรถยนต์ใหม่ปีละ3-5 แสนคัน ขนาดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่แย่ที่สุดในปีก่อน ก็มียอดซื้อรถยนต์ใหม่ภายในประเทศกว่า 7 แสนคัน ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่นอีกมาก
รวมทั้งประเทศไทยก็มีอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยก็ยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 และนับจากนี้จะมีเป้าหมายในแต่ละปีที่เด่นชัด ทำให้ต่างชาติเห็นยอดขายในอนาคตที่เด่นชัด
“แม้ว่าประชากรไทยจะมีจำนวนน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง แต่รายได้เฉลี่ยของคนไทยสูงกว่ามาก ทำให้มีอัตราการบริโภครถยนต์ใหม่สูงกว่า 1 ล้านคันต่อปี และมีอัตราการการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สูงที่สุด เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายใน ดังนั้นในการพิจารณาการลงทุนจะต้องดูกำลังการซื้อภายในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งการผลิตในไทยก็มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนอัตราภาษี 0% ในการส่งไปขายยังประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งมีเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สะดวก จึงทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า”
ส่วนข้อกังวลในเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ทำให้รถยนต์อีวี จากจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและอาเซียนได้ง่าย เพราะอัตราภาษีเป็น 0% จึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการตั้งฐานการผลิตที่สำคัญในไทย และอาเซียน อาจจะส่งเพียงชิ้นส่วนเข้ามาประกอบ หรือนำเข้ามาทั้งคัน ซึ่งในเรื่องนี้มองว่าตลาดจีนมีขนาดใหญ่มากบริษัทผลิตในจีนก็ต้องมุ่งที่จะผลิตรองรับประชากรภายในประเทศเป็นหลัก
แต่การเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยก็จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และสะดวกในการทำตลาด รวมทั้งการเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ก็กำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศได้ 40% และยิ่งตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน และร่วมมือในการวิจัยพัฒนา ก็จะยิ่งได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น ดังนั้นการเข้ามาลงทุนในไทยจะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศร่วมกันอย่างแน่นอน และยังเป็นการยกระดับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้าของโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ศักยภาพการดึงดูดการลงทุนของไทยโดดเด่นมากขึ้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) อยู่ระหว่างการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีวีให้มีแพ็กเกจที่น่าสนใจมากขึ้น กำหนดเป้าหมายการใช้รถยนต์อีวีในแต่ละปีให้มีความชัดเจน รวมทั้งการปรับปรุงด้านอัตราภาษีสรรพสามิต และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปรับปรุงแพ็กเกจการลงทุนชิ้นส่วนรถยนต์อีวี เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เข้าร่วมการหารือออนไลน์ หัวข้อ “Thailand’s Next-Generation Automotive” จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว โดยมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง 4 ราย ได้แก่ BYD, Great Wall Motor, GAC และ Xpeng พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจของไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม