บทพิสูจน์‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’กู้เชื่อมั่น! สธ.จ่อปรับเงื่อนไขใหม่รับทัวริสต์ต่างชาติ
นับถอยหลังไม่ถึง 1 เดือน การ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบโดสแล้วกำลังจะเริ่มขึ้น 1 ก.ค.นำร่อง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เข้ามาเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวที่ภูเก็ต ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญในการกอบกู้ความเชื่อมั่นแก่ประเทศไทย!
วันนี้ (4 มิ.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) จะพิจารณากรณีที่บางพื้นที่นำร่องเสนอขอ “เปลี่ยนไทม์ไลน์ใหม่” ในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเร็วขึ้น! ได้แก่ 1.พังงา-เขาหลัก เสนอขอไม่กักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป 2.กระบี่ ในพื้นที่เกาะพีพี ไร่เล และเกาะไหง ขอเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้ เสนอกักตัวในรูปแบบ 1+2+4 คืน และเดือน ส.ค.นี้ขอขยายไปยังพื้นที่เกาะลันตา อ่าวนาง และทับแขก เสนอกักตัวในรูปแบบ 1+2+4 คืนเช่นกัน ก่อนจะเริ่มไม่กักตัวนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป
3.เกาะสมุย ใน จ.สุราษฎร์ธานี ขอเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้ เสนอให้จำกัดพื้นที่และท่องเที่ยวระบบปิดในรูปแบบ 0+3+4 คืน และวันที่ 8-14 ท่องเที่ยวได้ภายในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หากออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาตศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในพื้นที่เท่านั้น
และ 4.เชียงใหม่ เสนอให้กักตัวนักท่องเที่ยวในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืน รูปแบบ 0+7 คืน ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ โดยสามารถออกนอกห้องพักและออกไปทำกิจกรรมในเส้นทางที่กำหนดได้ ภายหลังพำนักในพื้นที่ 7 คืน สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในไทยได้ ก่อนเข้าสู่ไทม์ไลน์ไม่กักตัวนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป
และเมื่อดูจากทั้ง 10 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า เมื่อปี 2562 ทั้ง 10 จังหวัดมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 78.90% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีดังกล่าว และจากสถิติอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2562 ก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย (อินบาวด์) จำนวน 39.9 ล้านคน และกระจายตัวเดินทางท่องเที่ยวมากกว่า 1 จังหวัด หรือเฉลี่ยคนละ 1.94 จังหวัด
“วัคซีน” จึงเป็นกระสุนสำคัญที่ตัวแทนภาคเอกชนหลายองค์กรมองตรงกันว่าภาครัฐต้องเร่งยิงให้ตรงเป้า! เข้าให้ถึงจุดที่ต้องการ โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้าด้านท่องเที่ยวใน 10 พื้นที่นำร่อง เพื่อสร้าง “ความเชื่อมั่น” แก่ทั้งพนักงานผู้ให้บริการและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่มาเยือน ถึงจะช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์สำคัญอย่างภาคท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว หนุนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้!
ด้าน ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ช่วงเช้าวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเรื่องการ “ปรับเงื่อนไขการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” จากเดิมกำหนดว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงกลาง ซึ่งขึ้นอยู่กับยอดผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละประเทศ มาเป็นเงื่อนไขใหม่ พิจารณาจากประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจในเรื่องการแพร่ระบาดหรือการควบคุมโดยวัคซีน เช่น สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกา ที่ยังอยู่ในความกังวลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ก่อนจะประกาศเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใหม่อย่างเป็นทางการในวันดังกล่าว
อีกเงื่อนไขที่จะพิจารณาคือเรื่องเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่มาพร้อมกับผู้ปกครองที่รับวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวได้ ส่วนเด็กอายุ 6-18 ปีต้องได้รับการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง เนื่องจากเป็นวัยที่มีการติดต่อทางสังคม (Social Contact) มีโอกาสเจอเพื่อนฝูงหรือญาติมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
ส่วนเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง จะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กับทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) อยู่ระหว่างหารือเพื่อให้ได้บทสรุปชัดเจนว่าจะใช้ประโยชน์จากทุกระบบที่มีอยู่ในสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบิน เช่น ระบบ IATA Travel Pass ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือแม้แต่ Common Pass ของบางสายการบิน
“ทั้งหมดนี้ทาง สพร.จะออกแบบระบบการอ่านข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนที่นักท่องเที่ยวยื่นมานั้นเป็นของจริง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าขณะนี้มีการปลอมและหาซื้อได้ทางออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน”
อีกเงื่อนไขคือนักท่องเที่ยวต้องใช้แอปพลิเคชั่น “Thailand Plus” เพื่อติดตามตัวและแจ้งเตือน โดยปัจจุบันเป็นแอปฯที่ถูกใช้งานจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยและเข้ากักตัวตามระบบปกติ
“โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นบททดสอบและเป็นบทพิสูจน์การบริหารจัดการความเสี่ยงทุกด้าน ก่อนจะเปิดเมืองอีก 9 พื้นที่นำร่องอย่างมั่นใจในไตรมาส 4 ปีนี้"