มองเศรษฐกิจไทยผ่าน ‘พ.ร.บ.งบฯ65’ เติบโตแต่เปราะบาง?

มองเศรษฐกิจไทยผ่าน ‘พ.ร.บ.งบฯ65’ เติบโตแต่เปราะบาง?

ผ่านไปแล้วสำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบหลักการในวาระที่ 1 และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3  ของคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้น

นอกจากรายละเอียดของงบประมาณที่จัดสรรให้กับกระทรวงต่างๆ ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่เป็นสมมุติฐานในการจัดทำงบประมาณนี้ กว่าจะเป็นกรอบวงเงินงบประมาณในแต่ละปีในขั้นตอนการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณนั้น 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณโดยประเด็นหนึ่งที่จะต้องมีการพิจารณาคือภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปีงบประมาณนั้นซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐได้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวเศรษฐกิจด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมชี้แจงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565  ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2.5 – 3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง 

ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1 – 2%

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4 – 5%  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7 – 1.7% ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปี 2565 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,511,000 ล้านบาท ลดลง 10.26% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1.1 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท หรือ 13.8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

 

 

162280899831

อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะฟื้นตัวจากโควิดอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก ดังปรากฎอยู่ในคำแถลงนโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2565 ของนายกรัฐมนตรีพบว่ามีประเด็นที่เป็น “ความเปราะบาง” ได้แก่ 1.การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการท่องเที่ยว ที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2.ความล่าช้าของการกระจายวัคซีน ในประเทศที่จะส่งผลต่อการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

3.ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น 

4.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตร

และ 5.ความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยจนกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม

ซึ่งความผันผวนของเศรษฐกิจในส่วนนี้ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่0.5 % และมีแนวโน้มที่จะคงเพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ

แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้นและธนาคารกลางสหรัฐฯอาจต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายความเสี่ยงที่ กนง.อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตซึ่งเมื่อดอกเบี้ยสูงต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจก็จะสูงขึ้นด้วย 

...แม้แนวทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก การกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เดินหน้า และภาวะเศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น แต่ถือว่ามีความเสี่ยงต่างๆอยู่มากที่ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงและทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางอยู่ไม่น้อย