‘จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่’ VS ‘ช่อง 3’ ประกาศศักดาสู้ศึก “คอนเทนท์โปรวายเดอร์”
ผู้ผลิตคอนเทนท์สัญชาติไทยอยู่ตรงไหนในแผนที่โลกการค้าขายละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ป้อนสงครามแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโอทีที ส่อง 2 ยักษ์ใหญ่ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่-ช่อง3" เคลื่อนทัพแข่งสู่ตลาดอินเตอร์ฯ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนจะไปถึงเป้าหมาย
หลายปีที่ผ่านมา “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” เป็นตัวแปรใหญ่ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทั้งการเสพสื่อ รับชมรายการโทรทัศน์ ละคร ซีรีส์ ฟังเพลง หรือดูคอนเทนท์ ทำให้ธุรกิจสื่อดั้งเดิม(Traditional Media) ที่ปรับตัวไม่ทันการณ์ แทบล้มหายตายจากวงการไป
เมื่อเทคโนโลยีให้กำเนิด “แพลตฟอร์มออนไลน์” ใหม่ๆ แทนที่สื่อเก่า มีโซเชียลมีเดีย ใช้ติดต่อสื่อสารแบ่งปันเรื่องราว มีสตรีมมิ่งตัวกลางสำหรับฟังเพลง มีสื่อออนไลน์ให้ภาพและเสียงหรือ Over-The-Top : OTT ให้ผู้บริโภคเลือกดูภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ รายการโปรดได้ทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญแต่ละแพลตฟอร์มจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่่ทุกแพลตฟอร์มต้องการคือ “เนื้อหา-Content” และต้องเป็นระดับท็อปลิสต์ หรือ Content is King เพื่อสะกดคนดูให้อยู่ที่หน้าจอ หรือแพลตฟอร์มนั้นๆนานที่สุด ให้สามารถทำเงินทั้งโฆษณา หากติดใจก็สมัครสมาชิกรายเดือนรายปีสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
นับวันแพลฟอร์มใหม่ๆตบเท้าเข้ามาเป็น “ตัวกลาง” เพื่อป้อนคอนเทนท์ให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ที่่รู้กกันดีมีทั้งเน็ตฟลิกซ์(Netflix) วิว(Vui) วีทีวี(WeTV) อ้ายฉีอี้( iQIYI) เอชบีโอ โก(HBO GO) และดิสนีย์ พลัส(Disney plus) ที่จ่อแถลงข่าวเปิดอย่างเป็นทางการในไทย นี่ยังไม่นับกับแพลตฟอร์มของไทย และเทศอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดา “ธุรกิจสื่อ” ไม่ว่าจะเป็นช่อง 7 มี Bugaboo TV, ช่อง3 มี CH3Plus และ CH3Plus Premium แบบบอกรับสมาชิก, ช่องโมโน 29 มี โมโนแม็กซ์ ฯ เป็นต้น เรียกว่าใครไม่ลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์ม ขยายสู่ออนไลน์ ถือว่าตกขบวนเรียบร้อยแล้ว
การเข้ามาของแพลตฟอร์มมากมาย จึงตามมาด้วยคอนเทนท์หลากหลายให้เลือกเสพ ทั้งจากฮอลลีวู้ด, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ยุโรป และไทย ซึ่งในตลาดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ขาใหญ่” ยังเป็นชาติตะวันตก ขณะที่เกาหลีใต้ สร้างผลงานโดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะสามารถเบียดไปอยู่ยืนอันดับต้นๆของโลกได้อย่างแข็งแกร่ง
ย้อนกลับมาดูธุรกิจสื่อและบันเทิง(Media and Entertainment) ของไทย ซึ่งถูกพายุดิจิทัลซัดจนซวนเซ พยายามปรับโครงสร้างกันจ้าละหวั่น เพื่อหนีภาวะ “ขาดทุน” และหากทางพลิกทำ “กำไร” เพื่อจะดื่มด่ำกับความมั่งคั่งเหมือนในอดีต บ้างผ่าตัดองค์กรไปสู่การเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้า โดยต่อยอดจากสินทรัพย์ที่มีคือธุรกิจบันเทิง จนประสบความสำเร็จอย่าง “อาร์เอส” ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ดี
ขณะที่ค่ายสื่อและบันเทิงยักษ์ใหญ่ที่กำลังพลิกกระบวนท่าหาทางสร้าง New S-curve ในอนาคตด้วยการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่ “ผู้ผลิตคอนเทนท์” หรือ Content Provider เต็มสูบ ยกให้ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” และ “บีอีซี เวิล์ด”หรือช่อง 3 ที่มีเป้าหมายเหมือนกัน แต่ยุทธวิธีแตกต่างตามโครงสร้าง พื้นฐาน และธุรกิจหลักของตนเอง ค่ายไหนจะไปอยู่ตรงไหนในสมรภูมิการผลิตคอนเทนท์ กรุงเทพธุรกิจ Bizweek แชร์วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของแม่ทัพ-นายกอง 2 บริษัท
++แกรมมี่ ผ่าตัดองค์กร 7 ปี
36 ปี “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ค่ายเพลงที่ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรังชัยธรรม” ขับเคลื่อนสร้างการเติบโต มีเรื่องราวความสำเร็จมากมาย ปั้นศิลปิน นักร้องระดับตำนานประดับวงการ แต่บางช่วงบางเวลาธุรกิจก็ไม่ได้สวยหรู โดยเฉพาะการตัดสินใจเข้าประมูล “ทีวีดิจิทัล” ที่สร้างบาดแผล “ทางการเงิน” หลายปี
ตัวเลข “ขาดทุน” จากธุรกิจจอแก้ว รวมถึงโครงสร้างธุรกิจเดิมๆ ที่มีการถือหุ้นในบริษัทย่อยยุบยับไปหมด จุดอ่อนภายในที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน และยังต้องเผชิญปัจจัยลบภายนอก(Threat)นานัปการ โดยเฉพาะดิจิทัล ดิสรัปชั่น หากเดินแผนเดิมๆ อาจกระเทือนการเติบโต บริษัทจึงเขย่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งปลายปี 2563 ค่อนข้างเหลือเพียงธุรกิจที่จะ “โฟกัส” ในอนาคต เมื่อแผนผังธุรกิจกระจ่างชัด ทำให้บริษัทพบปะนักลงทุนในรอบ 5 ปี และแจงก้าวต่อไป จะทำหลายสิ่ง เพื่อผลักดันการเติบโต
ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพการผ่าตัดองค์กรเกิดขึ้นต่อเนื่อง 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ห้วงเวลาที่เขย่าโครงสร้างหนักสุดคือปี 2559-2560 การปรับทัพองค์กรที่สำคัญคือการลด เลิกการถือหุ้นบริษัทย่อยที่มีมากมาย ให้เหลือหลักๆเพียง “วันเอ็นเตอร์ไพรส์” เท่านั้น ซึ่งมีสัดส่วนครองหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 34.2%
จากนี้ไป สิ่งทีแกรมมี่โฟกัส มีอยู่ 4-5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจเพลง ซึ่งยังทำเงินสูงสุด ภาวะปกติอยู่ที่ 60% แต่ผลกระทบโควิด-19 ทำให้สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 46% ตามด้วยธุรกิจทีวีโฮมชอปปิงผ่าน “โอช้อปปิ้ง” ทำรายได้ราว 35% แม้ยอดขายหลัก 1,500-1,600 ล้านบาทต่อปี แต่ “กำไร” กลับบางมากเพียงหลัก “สิบล้านบาท” เท่านั้น ปีนี้จึงถึงคิวเขย่ากลยุทธ์ครั้งสำคัญเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง
ธุรกิจเทรดดิ้ง จำหน่ายกล่องจีเอ็มเอ็ม แซด รายได้ไม่มากนักราว 6% และยังคงหดตัว จึงโฟกัสตามสถานการณ์ ส่วนธุรกิจภาพยนตร์ ผ่านค่าย “จีดีเอช” ปกติทำเงิน 450-500 ล้านบาทต่อปี หรือราว 5% ปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไมได้ ต้องนำไปออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มโอทีที แต่ไม่สามารถทดแทนเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้
สุดท้ายที่โฟกัสคือ “บริษัทร่วมทุน” เพราะถือเป็นพระเอกที่ค่อยๆสร้างผลงานการเติบโตอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นวันเอ็นเตอร์ไพรส์ เจ้าของช่องวัน 31 ที่ผลิตละคร ซีรีส์ รายการทีวี โกยเรทติ้งดีขึ้นเรื่อยๆ จนบริษัทมีกำไรส่งกลับมายังแกรมมี่ฯอย่างน่าพอใจ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ ที่อัพเลเวลผลิตคอนเทนท์ที่ค่อนข้างล้ำเพื่อป้อนแพลตฟอร์มโอทีทีโดยเฉพาะ “เน็ตฟลิกซ์” อย่าง “เด็กใหม่” ทำเงินในบราซิล เวียดนาม แบ่งรายได้กลับมาไทยมากขึ้น จีเอ็มเอ็ม ทีวี ผลิตซีรีส์วายจนกลายเป็นกระแสไม่แค่ในประเทศ แต่ยังปลุกความรักของชาย-ชาย แฟนคลับที่จิ้นหนุ่มๆ ไต่ระดับภูมิภาคด้วย
การจัดองคาพยพใหม่ทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น เดิมจะส่งผลให้ปี 2564 แกรมมี่ฯ จะทำรายได้ทุบสถิติ หรือสร้าง New high ครั้งใหม่ แต่พลันเกิดวิกฤติโรคระบาดเป้าหมายต้องขยับออกไป
++ประกาศศักดา ผู้ผลิตคอนเทนท์ยักษ์ใหญ่
โครงสร้างธุรกิจใหม่ การโฟกัสที่ชัดเจนตามแนวทางที่แกรมมี่ถนัด จึงเห็นขยายธุรกิจไม่จำกัดแค่ในประเทศ แต่สเต็ปเติบโตคือการปักธงไทยชิงพื้นที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ในระดับอินเตอร์เนชันแนล สิ่งที่ “ธนากร” ฉายภาพสะท้อนถึงการลุยเสิร์ฟ “คอนเทนท์เพลง” และ “ละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์” หรือ Non-Music นั่นเอง
การวางหมากธุรกิจเพลง แน่นอนว่าต้องมุ่งดิจิทัลเต็มสูบ ส่งคลังเพลงที่มีนับหมื่น(Libraly)ป้อนสตรีมมิ่งทั้ง Spotify Joox เพราะเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก ในระดับโลกตลาดเพลงปี 2563 มีมูลค่า 21,600 ล้านดอลลาร์ สตรีมมิ่งมีการเติบโตประมาณ 19.9% ดาวน์โหลดหดตัว 15.7% ซีดี เอ็มพี3 ไวนิล(Physical) หดตัว 4.7% จัดเก็บลิขสิทธิ์(คาราโอเกะ งานแสดง) หดตัว 10.1% และประกอบภาพยนตร์ เกมส์ ทีวี หดตัว 9.4%
ขณะที่สัดส่วนรายได้ของตลาดเพลงในโลก สตรีมมิ่งครองตลาดไปแล้ว 62.1% การ
สมัครสมาชิก(Subscription audio strams) 46% ซีดี ไวนิล เอ็มพี3(Physical) 19.5% มีโฆษณา(Ad-supported streams) 16.2% จัดเก็บลิขสิทธิ์10.6% ดาวน์โหลด 5.8% ประกอบภาพยนตร์ รายการทีวี เกมส์ 2%
ทั้งนี้ แกรมมี่มีเพลงในคลังมากถึง “2-3หมื่นเพลง” ครองสัดส่วนตลาด 60% และภาพรวมประเทศไทยค่ายเพลงเล็กใหญ่มีการสร้างสรรค์ผลงานเพลงสู่คนฟังประมาณ 1,600 เพลง เป็นเพลงใหม่ราว 300-400 เพลง ที่เหลือเป็นการคัฟเวอร์ และร่วมร้อง(Featuring) จึงเป็นโอกาสของบริษัทอย่างมาก ที่จะขายเพลงยกแผงทำเงิน
“แพลตฟอร์มจะเลือกเพลงเป็น Library ดังนั้นผู้ที่ทำสตรีมมิ่งในไทย จึงปฏิเสธการไม่มีเพลงของแกรมมี่ได้ เพราะเราครองตลาด 60% และในรอบ 10 ปี ไม่มีค่ายเพลงไหนทำรายได้สูงถึงพันล้านบาทเท่าแกรมมี่”
ด้านการทำเงินเกิดขึ้นหลากหลายโมเดล ทั้งรายได้จากแพลตฟอร์ม เพลงใหม่อาจรายได้ 5-10% เพลงที่ถูกนำไป Cover ได้ส่วนแบ่งรายได้กลับมา การสร้าง Playlist ต่างๆ สร้างรายได้ 30-40 ล้านบาท เรียกว่านำเพลงเก่ามาหมุนสร้างผลตอบแทนไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Cash Cow อยู่
ส่วนขา Non-Music วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ จีดีเอช ฯ แท็กทีมผลิตละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ฯ ตามความถนัดของตัวเอง เพื่อป้อนให้กับแพลตฟอร์มชั้นนำ เช่น จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ เน้นสร้างสรรค์ผลงานล้ำๆ เช่น เด็กใหม่ ที่พอประกาศศักดา เรียกความนิยมจากคนดูต่างชาติได้ และทำรายได้
เกาหลีใต้ ได้รับต้นทุนจ้างผลิตแพงสุดระดับโลก มีค่ายผู้ผลิตคอนเทนท์คลาส A ป้อนโอทีทีดัง เช่น ซีรี่ส์ Vincenzo-วินเชนโซ่ ทนายมาเฟีย ของค่าย TVN ได้ค่าจ้างผลิตจากเน็ตฟลิกซ์ตอนละ 2 ล้านดอลลาร์ จำนวน 20 ตอน จึงเป็นเงินไทยร่วม 120 ล้านบาท ดังนั้น หากไทยไต่ชั้นได้ ย่อมเป็นขุมทรัพย์มหาศาล
++YG สปริงบอร์ดผงาดไอดอลโลก
ส่งเพลง ละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์แล้ว อีกหนึ่งความพยายามของแกรมมี่ ในการปักชื่อบนแผนที่โลก คือ “ตลาดไอดอล” ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ความสำเร็จของ “ไอดอลบีทีเอส” จากเกาหลีใต้ที่ดังพลุแตก ทำเงินทั่วโลก 1 ปีได้ถึง 10,000 ล้านบาท เป็นโจทย์ที่แกรมมี่ฯ ต้องตีให้แตก และวางกลยุทธ์กรุยทางตามให้ได้
ยุคนี้การลงทุนลงแรงลำพัง กว่าจะถึงเส้นชัยอาจกินเวลานาน แกรมมี่ฯ จึงต้องอาศัยทางลัด ด้วยการจับมือ “วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ตั้งบริษัทร่วมทุน YG”MM (วายจีเอ็มเอ็ม)นำคัมภีร์ความสำเร็จตั้งแต่เฟ้นหา เทรนนิ่งฯปลุกปั้นไอดอลไทยทั้งบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเพื่อแจ้งเกิดให้ได้ภายใน 3-5 ปี
“แกรมมี่ ถนัดสร้างสรรค์งานเพลงป๊อบ ร็อค ลูกทุ่ง แต่ตลาดไอดอลเรายังไม่ปังสักที ขณะที่ตลาดไอดอลโลกที่ดังสุดหนีไม่พ้นเกาหลี เราจึงจับมือกับวายจีที่มีความเชี่ยวชาญ หากสร้างไอดอลปังสัก 1 วงให้ได้เหมือนบีทีเอส หรือเกิดแบล็คพิงค์ 2 จะสามารถสร้างรายได้การเติบโตระยะยาว เพราะเซ็กเมนต์ไอดอลมีการใช้จ่ายสูงมาก และเติบโตเร็วสุดใน 3 ปีที่ผ่านมา”
ยิ่งกว่านั้น วายจี จะเป็นสปริงบอร์ดให้กับแกรมมี่ฯ ในการปูทางสู่ตลาดสากลด้วย ตามเป้าหมายบริษัทจะต้องไปมีศิลปิน ไอดอลไทยประดับวงการตลาดโลกในปี 2567 รวมถึงการต่อจิ๊กซอว์ ในการดึงศิลปิน ไอดอลต่างประเทศมาจัดคอนเสิร์ตในไทยเพื่อดึงเงินด้วย
“ไอดอล และการเดินเข้าสู่ตลาดอินเตอร์เนชั่นแนลจะเป็นเครื่องยนต์ทำให้ผลักดันกำไรให้เติบโตทะลุพันล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า” ส่วนรายได้มองไว้ 7,500-8,000 ล้านบาท
สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพคอนเทนท์ซ้ำๆ เพลง ครองความเป็นที่หนึ่ง สร้งรายได้มากสุด ตามด้วยละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ส่วนที่เสพซ้ำน้อยคือข่าวและรายการกีฬา ฯ และการเสพคอนเทนท์วนไป ถือเป็นการสร้างรายได้ต่อเนื่อง(Recuring income)เติมความมั่งคั่งให้บริษัททีละน้อยๆแต่กินยาวไป
“คอนเทนท์สำคัญมากขึ้น แพลตฟอร์มควานหาคอนเทนท์ป้อนคนดู แกรมมี่ฯเหมือนถือด้ามมีด ค้าอาวุธหรือผลิตคอนเทนท์ให้สงครามแพลตฟอร์ม”
++ช่อง 3 เสกคอนเทนท์เดียว รุกทุกแพลตฟอร์ม
เป้าหมายเป็น “คอนเทนท์ โปรวายเดอร์” เช่นกัน ส่วนจะใช้ยุทธวิธีใด ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของผู้ผลิตคอนเทนท์สัญชาติไทย สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) เล่าวิสัยทัศน์กระจ่างชัดว่าวันนี้ ช่อง 3 จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากการเป็น “สถานีโทรทัศน์” ที่สร้างรายได้หลักจากการขายโฆษณา ไปสู่การเป็น “ผู้ผลิตคอนเทนท์ขนาดใหญ่”หรือ Content Provider
ช่อง3 ของตระกูล “มาลีนนท์” สร้างอาณาจักรธุรกิจทีวีมา 50 ปี มี “คลังคอนเทนท์” ไม่น้อยหน้าแกรมมี่ฯ แน่นอน แต่สิ่งที่แตกต่างคือตัวเนื้อหารายการ เพราะแกรมมี่ฯ เน้นเพลง ส่วนช่อง 3 มีกรุสมบัติเป็นละคร รายการวาไรตี้ต่างๆมากมาย
คอนเทนท์เก่า-ใหม่ต่างเป็น “สินทรัพย์” ชั้นยอด นำไปทำเงินสร้างรายได้มหาศาล ยิ่งกว่านั้นการเพิ่มโอกาสทำ “กำไร” ดีขึ้น เพราะคอนเทนท์บางตัวมีต้นทุนเดิม ต้นทุนใหม่คือการเจรจาการค้าขาย การทำตลาด ให้คู่ค้ามาซื้อคอนเทนท์ไปออกอากาศบนแพลตฟอร์มต่างๆ หรือ Single Content Multiple platform ไม่ว่าจะเป็น OTT ซึ่งมีเงื่อนไขการออกอากาศแตกต่างกันไปตามแต่ตกลง เช่น ออกอากาศหลังช่อง 3 ใน 2 ชั่วโมง ใน 7 วัน 14 วัน หรือกระทั่ง 1 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการออกอากาศบางคอนเทนท์แบบคู่ขนานหรือไซมัลแคสต์ เช่น ในประเทศจีนฯ โมเดลเหล่านี้ล้วนสร้างรายได้กลับมาให้บริษัท
ในฐานะที่ช่อง 3 เอง เป็นเจ้าของคอนเทนท์ด้วย จึงไม่พลาดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์มารองรับผู้ชม และการสร้างรายได้ต่อเนื่องจากการออกอากาศซ้ำๆ แต่มีแพลตฟอร์มเดียวไม่ได้ เพราะพฤติกรรมคนไทย ยังนิยม “ดูฟรี” ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา บริษัทจึงใช้ CH3Plus ตอบโจทย์คนที่มี Pain point จ่ายเงิน ส่วนใครที่กำลังซื้อถึง ไม่อยากดูโฆษณา อยากดูคอนเทนท์เอ็กซ์คลูสีพสามารถสมัครเป็นสมาชิก CH3Plus Premium ได้ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 79 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าแพลตฟอร์มโอทีทีดังเจ้าอื่นพอสมควร
++ปั๊มรายได้ขายลิขสิทธิ์โกอินเตอร์
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตให้ช่อง 3 คือการนำคอนเทนท์ในคลังไปเปิดตลาดต่างประเทศหรือ Global Content Licensing ซึ่งที่ผ่านมาอาศัยตัวแทนอย่าง “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย” ช่วยกรุยทางและทำตลาดให้ สร้างตลาดในจีน ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม และ พม่า โดยทาง อย่างปี 2561 ป้อนผลงานละครยอดฮิต 70 เรื่อง ไปขึ้นเชลฟ์ เช่น สามีตีตรา, ทรายสีเพลิง, รอยฝันตะวันเดือด, ลมซ่อนรักฯ ส่วนปี 2563 ส่งละคร 3 เรื่อง บุกตลาดฟิลิปปินส์ ผ่านช่อง TV5 ได้แก่ ละครเรื่องเพลิงนรี (Furious Fire), ปดิวรัดดา (The Loyal Wife) และทองเนื้อเก้า (Angel Heart)
เมื่อพลิกบทบาทสู่การผลิตคอนเทนท์ ช่อง 3 ไม่ได้จำกัดกรอบสร้างละคร ซีรี่ส์จากนิยาย บทโทรทัศน์ไทยเท่านั้น แต่หาสูตรสำเร็จซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยมในโลก เอเชียมาสร้างใหม่ในไทยด้วย เพื่อเติมพอร์ตคอนเทนท์ และยังเป็นการแก้ปัญหาที่เผชิญคือการเขียนบทไม่ทัน กระทบต้นทุนการผลิต(Production)นั่นเอง
“ช่อง 3 ชัดเจนว่าจะไม่ใช่แค่ทีวี Future บริษัทคือการมุ่งเป็น Leading Content Provider และเป็น Total Entertainment Company ในไทย”
ภารกิจดังกล่าวไม่เพียงทำให้ช่อง 3 มีแม่น้ำสายใหม่เพื่อสร้างรายได้ แต่ยังช่วยสานเป้าหมายรายได้ให้กลับไปแตะระดับ "หมื่นล้านบาท" อีกครั้งในอนาคต ยิ่งกว่านั้น คือการฟื้นตัวเลข "กำไร" คืนกลับมาอีกครั้ง หลังจากต้องฝ่าวิกฤติดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทีวีดิจิทัลที่คนดูน้อยลง โฆษณาหดหายจนต้องประสบภาวะ "ขาดทุน"
อย่างไรก็ตาม ในตลาดโลก ผู้ผลิตจากฮอลลีวู้ด ยุโรป เกาหลีใต้ มีคอนเทนท์ดี โดดเด่น ถูกจริตผู้ชม ส่วนคอนเทนท์จากไทยยังต้องไต่เต้าให้เท่าเทียม หรือเทียบชั้นประเทศอื่นๆ หากไม่เป็นการดูเบาจนเกินไป จะเห็นว่า “บท” ของละคร ซีรี่ส์ไทยยังอ่อนด้อย ขาดความซับซ้อน การเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ทำให้ผู้ชมติดตามแบบไม่กระพริบตา หากแก้โจทย์ดังกล่าวได้ การประกาศศักดาเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์โลก คงไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะ “คนไทยทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก” แต่การไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จะกินเวลานานแค่ไหน ต้องติดตามแนวทางการพัฒนาต่อไป