พาณิชย์ เผย สินค้าอาหาร ทำงานที่บ้าน ป้องกันโรค ยังเป็นดาวรุ่งส่งออกปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

พาณิชย์ เผย สินค้าอาหาร ทำงานที่บ้าน ป้องกันโรค ยังเป็นดาวรุ่งส่งออกปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

สนค.เผยผลวิเคราะห์เทรนด์ส่งออกสินค้าปี64 พบ สินค้าอาหาร สินค้าที่ใช้อำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันโรค ยังเป็นดาวเด่นปีนี้ยาวถึงปีหน้า ส่วนสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ พลิกกลับมาขยายตัวอย่างก้าวกร

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์และติดตามแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2564 พบว่า สินค้ากลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมีอัตราการเติบโตสูง อาทิ ผัก ผลไม้ สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร น้ำผลไม้ อาหารสัตว์ จากปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น และความแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าสุขภาพ

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ มีการฟื้นตัวหลังจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ซึ่งเป็นตัวเร่งด้านราคาสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปิโตรเคมี เหล็ก ยางพารา น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง สินค้าเมกะเทรนส์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน การทำงานและเรียนระยะไกล และการใช้ชีวิตในที่พักอาศัยมากขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศเตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง คาดว่าจะเติบโตตลอดปีนี้ และต่อเนื่องถึงปีหน้า จนกว่าการฉีดวัคซีนจะกระจายได้ทั่วถึง



ส่วนสินค้าที่จะกลับเข้าสู่วัฏจักรการผลิตเดิม หลังจากปัญหาโลจิสติกส์ผ่อนคลาย และกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ จีน ยุโรป จากการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น สินค้าที่ฟื้นตัวช้าจากผลกระทบที่รุนแรงของโควิด-19 น่าจะเห็นการกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 เมื่อหลายๆ ประเทศมีการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องสำอาง นาฬิกา กล้องถ่ายรูป เป็นต้น

นายภูสิต กล่าวว่า การส่งออกทั้งปี 2564 มีแนวโน้มโตกว่าเป้าหมาย 4% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการทำงานหนักของกระทรวงพาณิชย์ โดยในปี 2564 นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำหนดแผนงานหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนการส่งออก อาทิ นโยบายเกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด อาหารไทยอาหารโลก กระตุ้นการค้าออนไลน์ การเร่งรัดการส่งออกในยุคนิวนอร์มอล โดยใช้นวัตกรรมใหม่ทางการตลาด เพื่อส่งเสริมตลาดเชิงรุกทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

นอกจากนี้ ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ อาทิ การแก้ปัญหาการค้าชายแดนผ่านแดน โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน การแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 จากการเกิดสายพันธ์ใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) มองว่าการฟื้นตัวของการค้าโลกอาจเกิดการชะงักงัน หากหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่การเร่งการกระจายวัคซีนและการคลายล็อกดาวน์ที่เร็วขึ้น จะส่งผลให้การค้าโลกเติบโตเพิ่มขึ้น 2.5% ซึ่งจะกลับสู่แนวโน้มก่อนเกิดการแพร่ระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564