‘สุริยะ’ เร่งสกัดคลัสเตอร์โรงงาน ห่วงแรงงานติดเชื้อ 7,100 ราย
“สุริยะ” เร่งหารือ “แรงงาน” หยุดคลัสเตอร์โรงงาน ลุยฉีดวัคซีน สั่งทุกโรงงานลงทะเบียนแอพ “ไทย สต็อป โควิด” สุ่มตรวจทุกวัน
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมที่จะประชุมร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวัน 11 มิ.ย.2564 เพื่อหารือแนวทางการเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันการระบาดในโรงงาน
สำหรับการหารือดังกล่าวจะร่วมกับกำหนดประเภท และพื้นที่ของโรงงานที่จะฉีดวัคซีน รวมทั้งการกำหนดจุดฉีดวัคซีน ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งเข้าร่วมเป็นจุดฉีดวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดในโรงงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ วันที่ 9 มิ.ย.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ,กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันการระบาดในโรงงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาบังคับใช้ทันที
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการเข้มงวดสั่งการให้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานเกิน 200 คน ทั่วประเทศมี 3,200 แห่ง ลงทะเบียนในแอพลิเคชั่น THAI STOP COVID ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพื่อตรวจเชคการดำเนินงาน และขั้นตอนการปฏิบัติงานในโรงงาน อย่างละเอียดป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนโรงงานอื่นทั่วประเทศอีก 60,000 แห่ง จะต้องลงทะเบียนแอพลิเคชั่น THAI STOP COVID และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครับภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ รวมทั้งทุกโรงงานจะต้องเข้าไปลงทะเบียนในแอพลิเคชั้นไทยเซฟไทย ของกรมอนามัย เพื่อประเมินสุขภาพของพนักงานในโรงงานทุกวัน
“หลังจากวันที่ 15 มิ.ย. นี้ อุตสาหกรรมจังหวัดและคณะกรรมการโควิดจังหวัดจะออกสุมตรวจโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไปทุกวัน และหากพบว่ามีโรงงานที่ปล่อยปะละเลย มีความหละหลวม ก็จะมีมาตรการลงโทษอย่างเฉียบขาด ซึ่งมาตรการนี้ขะช่วยเพิ่มความเข้มงวดให้กับโรงงานในการป้องกันการแพร่นะบาดของโควิด ในขณะที่ภาครัฐก็จะเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในโรงงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อทำควบคู่กันก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดไปได้มาก”
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามข้อมูลโรงงานที่มีแรงงานติดโควิด-19 แล้ว 132 โรง มีแรงงานติดเชื้อ 7,100 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่มีโรงงานหนาแน่น เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี หระนครศรีอยุธยา สระบุรี สงขลา
ทั้งนี้ ส่วนมากจะเริ่มติดจากแรงงานต่างด้าวและระบาดไปสู่โรงงานต่างๆ ซึ่งในขณะนี้หากคณะกรรมการโควิดประจำจังหวัดตรวจพบคลัสเตอร์การระบาดในโรงงาน ก็จะพิจารณาปิดโรงงานทันที หากติดมากหลักสิบคนขึ้นไปก็จะปิดโรงงาน 14 วัน เพื่อกักตัวแรงงาน และฆ่าเชื้อทำความสะอาดโรงงาน แต่หากติดไม่ถึงสิงคนก็จะดำเนินมาตรการกักตัวแรงงานบางส่วนและทำความสะอาดโรงงาน รวมทั้งการเข้าไปฉีดวัคซีนเชิงรุก
“ในขณะนี้การระบาดในโรงงาน ยังส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไม่มากนัก เพราะยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ แต่หากปล่อยให้มีการระบาดใหญ่ก็อาจจะกระทบต่อกำลังการผลิตและซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบได้ ดังนั้นกระทรวงฯ จึงได้ออกมาตรการเข้มงวดป้องกันการระบาด ออกสุ่มตรวจถี่ยิบ และร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อลดการแพร่ระบาด และเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด” นายเดชา กล่าว