เปิด 12 คลัสเตอร์โรงงาน 'ส.อ.ท.'ชงนำเข้าต่างด้าวถูกกฎหมาย
ศบค.เผย 12 คลัสเตอร์โรงงาน ยอดติดเชื้อ 6.8 พันราย ส.อ.ท.ชี้ต้นเหตุจากแรงงานผิดกฎหมาย ชงรัฐเปิดนำเข้าต่างด้าว 4 แสนคน เข้าระบบกักตัว ตรวจโรค ฉีดวัคซีน
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้สรุปข้อมูลการระบาดโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 มีจำนวน 8 จังหวัด รวมผู้ติดเชื้อ 6,813 ราย คือ
1.สมุทรปราการ 3 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิ.ย.2564 ในโรงงานผลิตสายนำสัญญาณ โรงงานน้ำแข็งและโรงงานเครื่องนุ่งห่ม มีผู้ติดเชื้อ 139 ราย
2.สมุทรสาคร 1 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิ.ย.2564 ในโรงงานไม้ ติดเชื้อ 21 ราย
3.พระนครศรีอยุธยา 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 30 พ.ค.2564 ในโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ติดเชื้อ 104 ราย
4.สระบุรี 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 30 พ.ค.2564 โรงงานแปรรูปไก่ ติดเชื้อ 537 ราย
5.ประจวบคีรีขันธ์ 2 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 3 มิ.ย.2564 ในโรงงานแปรรูปไก่ และพบการระบาดวันที่ 28 พ.ค.2564 ในโรงงานสับปะรดกระป๋อง รวมผู้ติดเชื้อ 192 ราย
6.ชลบุรี 1 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิ.ย.2564 ในโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก ติดเชื้อ 6 ราย
7.เพชรบุรี 2 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 20 พ.ค.2564 ในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานสิ่งทอ พบการระบาดวันที่ 2 มิ.ย.2564 รวมผู้ติดเชื้อ 5,655 ราย โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ถึง 5,604 ราย
8.ตรัง 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 29 พ.ค.2564 ในโรงงานไม้ยาง ติดเชื้อ 159 ราย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ต้นเหตุการระบาดในโรงงานส่วนหนึ่งมาจากการแพร่เชื้อจากแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กแล้วแพร่ระบาดไปยังโรงงานอื่นๆ เนื่องจากแรงงานเหล่านี้จะพักอาศัยรวมกันอย่างแออัด
ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน เพราะแรงงานไทยไม่เข้ามาทำงานในโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานประมง โรงงานแผรูปอาหาร หรือโรงงานเครื่องนุ่งห่ม
ดังนั้นภาครัฐควรจะเข้ามาเข้มงวดการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเปิดให้โรงงานเข้ามาขึ้นทะเบียนความต้องการแร่งงานต่างด้าวกับกระทรวงแรงงาน และเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องโดยผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน การตรวจคัดกรองโรค และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งโรงงานพร้อมที่จะจ่ายเงินในขั้นตอนเหล่านี้เอง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่คำสั่งซื้อสินค้าสูงขึ้นตามภาวะการส่งออก และช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดจากแรงงานต่างด้าวไปได้มาก
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ในขณะนี้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานเอสเอ็มอีอยู่บ้าง แต่จะไม่รุนแรงเหมืองโรงงานขนาดใหญ่ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีมีแรงงานไม่มาก แต่จะกระจายไปโรงงานเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีมาก เพราะหากเจนแรงงาน 1 คนติดโควิด ก็ต้องปิดโรงงาน 14 วัน กักโรคและทำความสะอาด
ทั้งนี้ รัฐบาลความออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแรงงานติดโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เช่น การพักชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น เพื่อไม่ให้เป็นแรงกดดันในช่วงที่ต้องหยุดการผลิต รวมทั้งเข้ามาช่วยเหลือค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผลิตไม่ได้ 15-30 วัน และมีวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ใช้ในการฟื้นฟูกิจการ เพื่อพยุงการจ้างงาน และประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ รวมทั้งจะเป็นมาตรการที่สำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อมากขึ้น ภาครัฐก็เข้าไปควบคุมการระบาดได้ง่ายขึ้น เพราะเอสเอ็มอีไม่กังวลหากถูกปิดโรงงาน
“รัฐบาลควรมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจโรคโควิด-19 ในพื้นที่ที่มีโรงงานเอสเอ็มอีในพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อกันผู้ติดเชื้อออกมาโดยเร็ว และเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานส่วนนี้ ซึ่งจะทำให้การระบาดยุติลงโดยเร็ว”นายแสงชัย กล่าว