'ประวิตร' ดัน 3 แผนน้ำ 'อีอีซี' คิกออฟเติมอ่าง 'ประแสร์'
ความต้องการใช้น้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวโน้มขึ้น โดยมีการประเมินว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งภาคประชาชน ภาคเกษตร ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนเพิ่มน้ำต้นทุนให้มากขึ้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ทำการเปิดสถานีสูบน้ำคลองสะพาน จังหวัดระยอง วานนี้ (14 มิ.ย.) เพื่อเพิ่มน้ำให้อ่างประแสร์ได้ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในเขต EEC
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกและอีอีซี รวมถึงเน้นย้ำความพร้อมการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 เพื่อให้ภาคตะวันออกมั่นคงเรื่องน้ำและนักลงทุนเกิดความมั่นใจ โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 3 ประเด็นหลัก คือ
1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือและกำหนดแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุนโดยการพัฒนาระบบโครงข่ายน้ำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
2.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนใช้น้ำแบบ 3R รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุนโดยทำระบบเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
3.ขอให้ทุกหน่วยปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฝนปี 2564 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก รวมถึงวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้า
ทั้งนี้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561–2563) รัฐบาลเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำฝนให้มากที่สุดรองรับความต้องการภาคประชาชน เศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม โดยเฉพาะในฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีโครงการแหล่งน้ำแล้ว 2,872 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 372,950 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 136,751 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 138 ล้าน ลบ.ม.
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ที่เป็นหัวใจหลักสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบปัญหาน้ำน้อยมาก กอนช.จึงจัดสรรงบกลางปี 2563 สนับสนุนส่วนหนึ่งให้กรมชลประทานเร่งโครงการสูบน้ำกลับจากคลองสะพานมาเติมอ่างประแสร์ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นในปี 2564
นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกปี 2564 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าห่วงนัก แต่ต้องเน้นย้ำทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผน พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพื่อเตรียมการรับมือและให้การสนับสนุนร่วมไปกับภาครัฐที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรม
รวมทั้งการหาแหล่งน้ำต้นทุนให้พอและดำเนินการปี 2563-2580 ทั้งสิ้น 38 โครงการ ใน 9 กลุ่มโครงการ ได้แก่ การก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ก่อสร้างโครงข่ายน้ำใหม่ ปรับปรุงโครงข่ายน้ำเดิม ก่อสร้างระบบสูบกลับ ขุดลอกแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำ บ่อบาดาลอุตสาหกรรม สระเอกชน และผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม.
ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการขยายตัวของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC รัฐบาลจึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม
ปัจจุบันใน EEC มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 662 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 522 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจัดสรรน้ำทุกกิจกรรมแล้ว 80 ล้าน ลบ.ม.ต้องการใช้น้ำ 1,054 ล้าน ลบ.บ.โดยปี 2574 ต้องการใช้น้ำเพิ่มรวม 358 ล้าน ลบ.ม.และชลบุรีต้องการเพิ่มขึ้นมากสุด โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำใน EEC อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอสำหรับอนาคตจึงต้องดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่
1.โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 ปัจจุบันพร้อมดำเนินการและหากแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ 50 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี
2.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ปัจจุบันกำลังเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 หากเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ 140 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี
3.โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ ปัจจุบันพร้อมดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระได้ 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี
4.โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล 1,795 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี
สำหรับลุ่มน้ำบางปะกง กรมชลประทานทำการจัดสรรน้ำ จากอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง เพื่อรักษาระบบนิเวศกว่า 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในการควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์ 1 กรัมต่อลิตร ในขณะนี้กำลังก่อสร้างระบบส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา 100,000 ไร่ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในปัจจุบันไม่พอผลักดันน้ำเค็มจึงศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน
รวมทั้งประเมิน EIA โครงการอ่างเก็บน้ำจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ อ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร อ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว อ่างเก็บน้ำคลองวังมืด อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา และอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ หากดำเนินการได้จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย