กรมการข้าวดึงชาวนา-เอกชน ร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์
กรมการข้าวจับมือองค์กรชาวนาร่วมภาคเอกชน เดินหน้าผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอ
ตั้งเป้าพื้นที่ผลิต 60 ล้านไร่ ขณะปีเพาะปลูก 2564/65 มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 9 แสนตัน
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมdกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ศูนย์ข้าวชุมชน สมาคมรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ว่า ได้หารือถึงแนวทางการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหารือวางแผนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2564/65 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงชาวนาไทยที่กำลังประสบกับปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอ
ส่งผลให้ชาวนานำเมล็ดพันธุ์เดิมมาใช้ในการเพาะปลูกและมีปัญหาข้าวมีวัชพืช เมล็ดข้าวไม่มีคุณภาพ เป็นสีแดง เป็นข้าวดีดข้าวเด้ง ผลผลิตต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือกับเหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้เพียงพอ แต่ตรงกับความต้องการของตลาดข้าว โดยแบ่งข้าวออกเป็น 5 ประเภท คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และข้าวเหนียว บนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 60 ล้านไร่
ทั้งนี้ในปี 2564/65 มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 9 แสนตัน แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิมี 4.05 แสนตัน เพื่อปลูกในพื้นที่ 27 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง 2.025 แสนตัน
กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 2.025 แสนตัน
ข้าวหอมไทยจำนวน 3.45 หมื่น ตัน พื้นที่ 2.3 ล้านไร่ แยกเป็นชาวนาเก็บไว้ 17,250 ตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 17,250 ตัน ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 3 หมื่นตัน พื้นที่ปลูก 2 ล้านไร่
โดยมีเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้เอง 1.5 หมื่นตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 1.5 หมื่นตัน
ข้าวเจ้าพื้นแข็ง ต้องการเมล็ดพันธ์ 2.55 แสนตัน พื้นที่ปลูก 17 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เอง 1.2 แสนตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์1.25 แสนตัน และข้าวเหนียว มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ 2.55 แสนตัน พื้นที่ปลูก 17 ล้านไร่ มรเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เอง1.2 แสนตัน และกรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 1.25 แสนตัน
สำหรับแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน มีกระบวนการเริ่มจากกรมการข้าว โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าวเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์หลัก กองเมล็ดพันธุ์ข้าวรับข้าวพันธุ์หลักจากกองวิจัยและพัฒนาข้าวมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย
หลังจากนั้นสมาคมผู้รวบรวม ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์ เป็นผู้รับเมล็ดพันธุ์ขยายต่อไป ซึ่งหากพบความเสียหายของเมล็ดพันธุ์ข้าวผู้แทนจำหน่ายให้ชาวนา จะต้องแสดงหลักฐานบาร์โค้ดที่มาของเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้