จุดเปลี่ยนหรือจุดเสี่ยง หุ้น“ กันกุล” หลังราคานิวไฮพร้อมทุนใหม่
ท่ามกลางตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้มีความผันผวนสูง เพราะสลับปรับตัวขึ้นลงและแกว่งตัว ทำให้ทิศทางขาขึ้นไม่แรง พอจะลงลึกมีเม็ดเงินรายย่อยเข้ามาไล่ซื้อหุ้นพื้นฐานดีราคาลงมา ช่วงดังกล่าวทำให้หุ้นไซต์กลางมีประเด็นเฉพาะตัวถูกหยิบขึ้นมาดันราคานิวไฮมากมาย
หุ้น บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก จนในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา ( 18 – 22 มิ.ย.) ขึ้นอันดับ 1 ในหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดแซงหน้าบรรดาหุ้นบิ๊กแคปที่ยังมีมูลค่าซื้อขายต่ำกว่า!!
สะท้อนได้มีว่ามีปัจจัยที่น่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก จากความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำราคานิวไฮไปถึง 3 ครั้ง จนล่าสุดไปสูงสุดที่ 5.10 บาท ( 21 มิ.ย.)
เมื่อเปรียบเทียบกับราคาหุ้นปิดเดือนพ.ค. ที่ 3.50 บาท ราคาหุ้นปรับตัวบวกขึ้นมาแล้ว 1.60 บาท หรือเพิ่มขึ้น 45 % ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่กระโดดเกือบได้เห็นหมื่นล้านบาท จากเฉลี่ยระดับหลักร้อยล้านบาท
วานนี้ (22 มิ.ย.) ราคาหุ้นปรับตัวลงมาปิดที่ 4.92 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 % อาจจะมองว่าเป้นการพักฐานหลังปรับขึ้นมาต่อเนื่อง หรือเป็นการขายทำกำไรหลังรับรู้ข่าวที่มีผลต่อราคาหุ้นไปแล้ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
บริษัทได้มีการเปิดเผยมาโดยตลอดประเด็นการซื้อ-ขาย หุ้นเพื่อมาบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) จากการอนุมัติคณะกรรมการบริษัทเมื่อช่วง 28 พ.ค. 2564 เนื่องจากจะหมดสิทธิระยะเวลาขายคืนในตลาดหุ้นวันที่ 23 ต.ค. 2564
ที่ผ่านมาได้มีการซื้อหุ้นคืนในช่วง 24เม.ย. 2561 – 22 ต.ค. 2561 เป็นจำนวนหุ้น 99.04 ล้านหุ้น จากวงเงินที่ขออนุมัติทั้งสิ้น 440 ล้านหุ้น เม็ดเงิน 1,100 ล้านบาท เมื่อย้อนราคาในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 2.58 - 2.96 บาท ซึ่งในช่วงปี 2563 ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงขากภาวะโควิด-19 จนราคาหลุด 2.00 บาท บริษัทไม่ได้มีการดำเนินการซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด
จนมีการประกาศเริ่มทยอยขายหุ้นที่ซื้อคืนออกมา ซึ่งปรากฎตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. จำนวน15 ล้านหุ้น ราคาระหว่าง 4.44-4.46 บาท มูลค่า 66.72 ล้านบาท ,วันที่ 17 มิ.ย. ขายหุ้น 6 ล้านหุ้น ราคา 4.32 บาท มูลค่า 29.92 ล้านบาท และวันที่ 18 มิ.ย. ขายหุ้น 78 ล้านหุ้น ราคาระหว่าง 4.22-4.36 บาท มูลลค่า 333 ล้านบาท หรือเป็นการขายหมดทั้งจำนวน 99.04 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 429.64 ล้านบาท
เปรียบเทียบราคาหุ้นแล้วถือได้ว่าฝ่ายบริหารสามารถทำส่วนต่างกำไรราคาหุ้นให้กับบริษัทได้มากถึงเท่าตัว ซึ่งจะทำให้บริษัทจะรับรู้รายได้พิเศษในส่วนนี้ในช่วงไตรมาส 3 ไปด้วย
อย่างไรก็ตามกลับรายการขายหุ้นดังกล่าวมีการเข้ามาลงทุนของทุนใหม่ จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM 7 “สุระ แสงคณิตกุล” เจ้าของและผู้บริหาร รวมทั้งผู้ถือหุ้นอันดับ 2 “นพ. พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” เข้ามาลงทุนในหุ้น GUNKUL ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันธุรกิจของ GUNKUL ที่สร้างความน่าสนใจให้กับทุนใหม่คงหนีไม่พ้นการกระโดดเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นตลาดกัญชง ที่สร้างกระแสให้กับเหล่าบริษัทจดทะเบียนก่อนหน้านี้กันอย่างคึกคัก ซึ่งบริษัทประกาศเข้าเป็นผู้ผลิตต้นน้ำด้วยการปลูกกัญชงได้มากถึง 5,000 ไร่ ได้ดำเนินการเพาะปลูกแล้ว และยังสามารถทำโรงสกัดสาร CBD ได้ด้วยกำลังผลิต 1 ตันต่อวัน เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเ
โครงการดังกล่าวย่อมต้องผ่านการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา ซึ่งธุรกิจที่พร้อมและเป็นธุรกิจแรกของวัฎจักรย่อมได้เปรียบ ซึ่งจะกลายเป็นสตอรี่ใหม่ให้กับธุรกิจท่ามกลางธุรกิจไฟฟ้าที่เริ่มนิ่งมีแต่กระแสเงินเข้ามาแต่การเติบโตไม่หวือหวา
ราคาหุ้นขึ้นมารอรับข่าวดังกล่าวจึงเป็นจุดเสี่ยงที่ควรทำกำไร พร้อมอาจจะเป็นทั้งโอกาสของธุรกิจใหม่ที่สดใสพอจะดันการเติบโตต่อเนื่องถึงปี 2565 จนทำให้มีผลต่อการปรับประมาณการกำไร และกลุ่มทุนใหม่จะเข้ามาทำธุรกิจในรูปแบบอื่นในอนาคตอีกด้วย