อีคอมเมิร์ซหนุนโลจิสติกส์บูม
ไนท์แฟรงค์ เผยโลจิสติกส์เริ่มฟื้นตัว หลังได้แรงหนุนจากอีคอมเมิร์ซ ระบุแนวโน้มคลังสินค้าแบบสร้างตามความต้องการผู้เช่าโตต่อเนื่อง ล่าสุดขยับราคาค่าเช่าเฉลี่ยของคลังสินค้า 158 บาท/ตร.ม./เดือนครั้งแรกในรอบ10ปี
นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยและซัพพลายเชนทั่วโลกจะยืดเยื้อ แต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 การเช่าคลังสินค้าเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากภาคการผลิตได้กลับมาดำเนินการอีกครั้งประกอบกับบริษัทต่างปรับกลยุทธ์รับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้และการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดว่าความต้องการจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ ที่มีผลต่อการให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์เติบโตเข้ามา"ชดเชย"ดีมานด์ของร้านค้าปลีกที่หายไป หลังจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ธุรกิจส่งสินค้าได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
จากการวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 พบว่า อุปทานรวมคลังสินค้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.7% ครึ่งปีต่อครึ่งปี รวมเป็น 4.57 ล้านตร.ม. สำหรับอุปทานทั้งปีทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2.5% แม้จะมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งปกติแล้วนักพัฒนาในตลาดจะสร้างอุปทานตามความต้องการจริง แต่เลือกที่จะ"ชะลอ"การเปิดตัวคลังสินค้าสำเร็จรูปใหม่ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดอุปทานล้นตลาดจึงน้อยมาก
"จากสภาวะเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศที่ยังไม่ดี ทำให้ ผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพของคลังสินค้ามากกว่าเปิดตัวโครงการใหม่ เว้นแต่จะมีความต้องการจากผู้เช่า "
อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางตลาดของคลังสินค้าแบบสร้างตามความต้องการผู้เช่า(build-to-suit)ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีตั้งแต่ศูนย์กระจายสินค้าในระดับภูมิภาคไปจนถึงคลังเย็นและคลังสินค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ทำให้โอกาสการเกิดภาวะอุปทานล้นตลาดจึงค่อนข้างต่ำ โดยราคาค่าเช่าเฉลี่ยของคลังสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 158 บาท/ตร.ม./เดือน เป็นครั้งแรกในช่วง10ปี ที่ผ่านมาหรือปรับเพิ่มขึ้น3 บาท
" แทนที่จะลดราคาค่าเช่าเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่ลดลงจากโควิด-19 ผู้ประกอบการก็เลือกที่จะเลื่อนการจ่ายค่าเช่าออกไปหรือให้ลดราคาค่าเช่าสำหรับผู้เช่าเดิม ในระดับภูมิภาค ส่วนราคาค่าเช่าในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.1% ครึ่งปีต่อครึ่งปี และ 0.2% ครึ่งปีต่อครึ่งปี ตามลำดับ ราคาค่าเช่าในภาคกลางปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 1.8%"